บทความสุขภาพ

รักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยคลื่นวิทยุไฟฟ้าหัวใจ

Share:

หัวใจเต้นผิดจังหวะ

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถรักษาได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งหนึ่งในวิธีรักษาที่ได้ผลดีคือการสวนและจี้ไฟฟ้าหัวใจ (Radio Frequency Ablation) โดยการใช้คลื่นวิทยุความถี่สูงสวนเข้าไปทางหลอดเลือดดำบริเวณขาหนีบและจี้ที่บริเวณต้นกำเนิดของอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะที่หัวใจ วิธีการคือใช้สายสวนสอดไปตามหลอดเลือดที่บริเวณขาหนีบจนถึงห้องหัวใจ เมื่อพบตำแหน่งที่มีกระแสไฟฟ้าหัวใจเต้นผิดปกติ แพทย์จะปล่อยพลังงานคลื่นวิทยุไปที่ขั้วปลายสายสวนเพื่อจี้รักษา

“โดยผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดสูงถึงร้อยละ 95 – 98และไม่ต้องกินยาไปตลอดชีวิต”

หัวใจเต้นผิดจังหวะมีกี่ประเภท?

อาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็ว
  2. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้า

ก่อนเข้าสู่กระบวนการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์จำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดไหน พร้อมหาจุดกำเนิดไฟฟ้าที่ทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งการตรวจระหว่างที่ผู้ป่วยมีอาการจะทำให้การอ่านผลแม่นยำมากขึ้น ดังนั้นหากผู้ป่วยรู้สึกว่ามีอาการใจสั่น หรือวูบ ควรรีบไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างเร่งด่วนและได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอันตรายถึงชีวิต

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะจะทำให้การสูบฉีดเลือดจากหัวใจไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพ ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมองอุดตัน และนำไปสู่การเสียชีวิตได้

เทคโนโลยีการจี้ด้วยคลื่นวิทยุไฟฟ้าหัวใจ (Radio Frequency Ablation) แบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้

  • Electrophysiology Study (การตรวจวินิจฉัยทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ) เป็นการตรวจประเมินสัญญาณไฟฟ้าหัวใจและทางเดินไฟฟ้าหัวใจ หาสาเหตุ รวมถึงตำแหน่งที่ผิดปกติ และจี้ด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง แสดงผลเป็นกราฟ 2 มิติ ข้อดีคือสามารถทำการรักษาได้ทันทีหลังจากการตรวจวินิจฉัย
  • 3D System เป็นการหาตำแหน่งจุดกำเนิดไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ ซึ่งแสดงผลเป็นภาพ 3 มิติ แบบเรียลไทม์ และใช้สายสวนจี้ตรงจุดที่ผิดปกติด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง วิธีนี้สามารถใช้รักษาความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจที่มีจุดกำเนิดเป็นบริเวณกว้างหรือมีความซับซ้อน เช่น
    • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะห้องบน (Atrial Tachycardia)
    • ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation)
    • ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็ว (Ventricular Tachycardia)
    • ภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วชนิดลัดวงจร (Supraventricular Tachycardia)

ระยะเวลาในการรักษาด้วยเทคโนโลยีการจี้ด้วยคลื่นวิทยุไฟฟ้าหัวใจ

การรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยเทคโนโลยีการจี้ด้วยคลื่นวิทยุไฟฟ้าหัวใจ จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง และนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1 คืน หลังจากนั้นสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ต้องงดยกของหนัก ไม่ควรเดินมากจนเกินไป และงดขับรถเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 7 วัน เพื่อให้แผลจากการเจาะหลอดเลือดบริเวณขาหนีบที่หน้าขาหายเป็นปกติ สำหรับข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้คือมีโอกาสหายขาดจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะสูงถึงร้อยละ 98 เกิดภาวะแทรกซ้อนและมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำเพียง 1-2% เท่านั้น ที่สำคัญคือไม่ต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิต ทำให้การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุไฟฟ้าหัวใจนั้นมีประสิทธิภาพ จึงเป็นวิธีรักษาที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-2734 0000 ต่อ 5300

  • Readers Rating
  • Rated 4 stars
    4 / 5 (6 )
  • Your Rating