บทความสุขภาพ

“ภาวะสมองพิการ” ภัยเงียบของเด็กเล็ก

Share:

ภาวะสมองพิการ หรือ Cerebral Palsy  เกิดจากสมองที่ได้รับบาดเจ็บจากสาเหตุต่างๆ ในช่วงเด็กทารกหรือเด็กเล็ก ส่งผลให้มีพัฒนาการที่ล่าช้าโดยเฉพาะ ด้านกล้ามเนื้อ กระทบต่อการใช้ชีวิตในอนาคต จึงควรรีบพามารักษา ฝึกกระตุ้นพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

นายแพทย์ศุภชัย เลาหพงศ์สมบูรณ์ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลเวชธานี  กล่าวว่า ภาวะสมองพิการ เป็นความผิดปกติของสมองที่เกิดจากสมองได้รับการบาดเจ็บอย่างถาวรในช่วงสมองยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหวร่างกาย การขยับแขนขา ลำตัว การทรงตัว ยืน เดิน ผิดปกติหรืออาจเดินไม่ได้ ส่วนใหญ่มักเป็นมาแต่กำเนิด หรือตั้งแต่ช่วงทารก พบได้บ่อยในทารกที่คลอดก่อนกำหนด, น้ำหนักแรกคลอดน้อย, ภาวะขาดออกซิเจนในช่วงคลอด เป็นต้น 

อาการของเด็กสมองพิการ จะสังเกตได้จากพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าในกลุ่มวัยเดียวกัน เช่น การชันคอ, พลิกตัว, นั่ง, คลาน,  เดิน ชอบใช้แขนข้างใดข้างหนึ่งก่อนวัยอันควร เป็นต้น

ส่วนสาเหตุการบาดเจ็บของสมองเกิดได้ตั้งแต่ในระยะก่อนคลอด ระหว่างคลอด และหลังคลอด

  • ความเสี่ยงตั้งแต่อยู่ในครรภ์ มีการติดเชื้อของคุณแม่ตั้งครรภ์ เช่น โรคหัดเยอรมัน โรคอีสุกอีใส โรคเริม โรคซิฟิลิส, การขาดออกซิเจนของทารกในครรภ์, รกเกาะต่ำ, อุบัติเหตุที่ทำให้สมองของทารกได้รับการกระทบกระเทือนตั้งแต่อยู่ในครรภ์
  • ความเสี่ยงระหว่างคลอด คุณแม่มีภาวะคลอดก่อนกำหนด, มีปัญหาคลอดยาก, น้ำหนักแรกคลอดน้อย, มีภาวะเลือดออกในสมองหรือสมองขาดออกซิเจนในช่วงแรกเกิด, รกพันคอ, ติดเชื้อ,  มีเลือดออกในสมองขณะคลอด 
  • ความเสี่ยงหลังคลอด เด็กอาจจะติดเชื้อหลังคลอด หรือ อุบัติเหตุกระทบกระเทือนศีรษะ,  เนื้อสมองที่เจริญผิดปกติ, ภาวะตัวเหลือง, โรคทางพันธุกรรม

ภาวะสมองพิการแบ่งตามอาการทางระบบประสาทออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  1. โรคสมองพิการชนิดเกร็ง  (Spastic cerebral palsy) พบได้มากที่สุดของเด็กสมองพิการทั้งหมดจะมีอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะแขนหรือขา อาจเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งตัว เช่น ลำตัวและแขนขาเกร็งครึ่งซีก ขามีอาการเกร็งมากกว่าแขน ขาและแขนทั้งสองข้างมีอาการเกร็ง 
  2. โรคสมองพิการชนิดเคลื่อนไหวผิดปกติ  (Athetoid cerebral palsy) พบได้ประมาณ 1 ใน 4 ของเด็กสมองพิการ จะมีอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง ผิดรูป หรือบิดเกร็งไปมา ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ บางรายอาจมีคอเอียง ไหล่บิด มือเกร็ง ร่วมด้วย
  3. โรคสมองพิการชนิดเดินเซ ( Ataxic cerebral palsy) พบได้น้อย มีปัญหาในการทรงตัว สมดุลร่างกายและการประสานงานของระบบต่าง ๆ รวมทั้งอาจมีอาการสั่นร่วมด้วย
  4. โรคสมองพิการชนิดผสม  ( Mixed cerebral palsy ) คือ มีภาวะสมองพิการมากกว่า 1 ชนิดร่วมกัน

สำหรับการรักษาภาวะสมองพิการจะเป็นการรักษาด้วยทีมสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วย กุมารแพทย์สาขาประสาทวิทยา, กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรม, กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ, กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโภชนาการ,กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร, โสต ศอ นาสิกแพทย์, จักษุแพทย์, ประสาทศัลยแพทย์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด โดยจะเน้นการรักษาแบบฟื้นฟู เช่น กิจกรรมบำบัด กายภาพบำบัด รวมไปถึงการรักษาด้วยยา เพื่อลดอาการเกร็ง กระตุ้นพัฒนาการและศักยภาพของเด็กสมองพิการ เพื่อสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม โรคสมองพิการมีอาการหลายลักษณะ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมีลูก โดยเฉพาะคุณแม่ที่คลอดลูกก่อนกำหนด หรือ น้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย ควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากสงสัยว่ามีความผิดปกติ ควรรีบมาปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อประเมินและรับการรักษาที่เหมาะสม

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-27340000 ต่อ 3310, 3312, 3319

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (5 )
  • Your Rating