บทความสุขภาพ

มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก โรคยอดฮิตติด 1 ใน 3

Share:

ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีการตรวจพบโรคมะเร็งในเด็กปีละประมาณ 1,000 – 3,000 ราย และพบในทุกช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่น โดยโรคที่พบได้บ่อยที่สุดคือ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันหรือลูคีเมีย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 38.1 ของมะเร็งทั้งหมดในเด็ก

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ปิยะ รุจกิจยานนท์ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยา และมะเร็งในเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี ไขกระดูก หรือ Bone Marraw เป็นที่อยู่ของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (สเต็มเซลล์) และเป็นอวัยวะหลักที่ทำหน้าที่สร้างเซลล์เม็ดเลือดต่าง ๆ ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ดังนั้น ในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด จะถูกแทนที่ด้วยเซลล์มะเร็ง ทำให้การสร้างเม็ดเลือดต่างๆ บกพร่องไป และก่อให้เกิดอาการแสดงที่สัมพันธ์กับความบกพร่องของการสร้างเซลล์เม็ดเลือดในไขกระดูก ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ภาวะซีด จากการที่มีเม็ดเลือดแดงต่ำ อาการไข้ หรือ การติดเชื้อ จากการที่มีเม็ดเลือดขาวชนิดปกติที่ต่ำ อาการเลือดออกง่าย เช่น จ้ำเลือด จุดเลือดออกตามตัว เลือดออกตามไรฟัน หรือ เลือดกำเดา จากการที่มีเกล็ดเลือดต่ำ ขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการปวดกระดูก (bone pain) ร่วมด้วย จากการที่มีเซลล์มะเร็งอัดแน่นอยู่ภายในไขกระดูก นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีก้อนมะเร็งในช่องอก อาจจะมีอาการผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม หรือมีความผิดปกติทางระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น หน้าและคอบวม จากการที่ก้อนไปกดทับทางเดินหายใจ หรือ ระบบไหลเวียนโลหิตตามลำดับ

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย พบได้ประมาณ 1 ใน 3 ของโรคมะเร็งทั้งหมดในเด็ก ในปัจจุบันสามารถแบ่งโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ Acute Lymphoblastic Leukemia (ALL) และ Acute Myeloid Leukemia (AML) ซึ่งสาเหตุการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

  • การได้รับหรือสัมผัสรังสี 
  • สารเคมีบางชนิด โดยเฉพาะสาร Benzene (สัมพันธ์กับการเกิดโรค AML) 
  • ยาเคมีบำบัดบางชนิด ได้แก่ alkylating agents, epipodophyllotoxins และ anthracycline (สัมพันธ์กับการเกิดโรค secondary AML) 
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม นอกจากนี้ โรคทางพันธุกรรมบางชนิดพบว่ามีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ต่อการเกิดโรคเช่นกัน

สำหรับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันในเด็ก สามารถทำได้โดยการตรวจเลือด เพื่อนับเม็ดเลือด (complete blood count; CBC) และการตรวจดูลักษณะของเม็ดเลือดทางกล้องจุลทรรศน์ ส่วนการตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและการตรวจหาชนิดของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน สามารถทำได้จากการตรวจดูลักษณะของเซลล์เม็ดเลือดในไขกระดูก ร่วมกับการส่งตรวจพิเศษ และตรวจความผิดปกติของโครโมโซมและความผิดปกติทางโมเลกุลอื่นๆ เพื่อช่วยประเมินระดับความเสี่ยงและการพยากรณ์โรคในผู้ป่วยแต่ละราย

วิธีการรักษาหลักในผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน คือ การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด โดยผู้ป่วยจะได้รับการรักษาตามระดับความเสี่ยงของโรค ซึ่งโดยทั่วไประยะเวลาในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันชนิด ALL จะอยู่ที่ 2.5 – 3 ปี และระยะเวลาในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันชนิด AML จะอยู่ที่ 6 – 8 เดือน ทั้งนี้ ในผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันที่มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี หรือผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดมาตราฐาน อาจจะได้รับการพิจารณาในการทำการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หากไม่ได้รับการรักษา อาการอาจลุกลามและรุนแรงขึ้นได้ในเวลาเพียงแค่ 1 เดือน ขณะเดียวกันหากได้รับการรักษาเร็ว จะมีโอกาสหายขาดได้ โดยพบว่าโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กส่วนใหญ่ตอบสนองต่อการรักษาค่อนข้างดี และผู้ป่วยเด็กส่วนมากมีโอกาสรอดชีวิตสูงเมื่อเทียบกับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในผู้ใหญ่

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ปิยะกล่าว

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์กุมารเวชกรรม (Super Kids Center)
โทร. 0-27340000 ต่อ 3310, 3312

  • Readers Rating
  • Rated 4.8 stars
    4.8 / 5 (6 )
  • Your Rating