บทความสุขภาพ

ต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิลโต อีกหนึ่งสาเหตุที่อาจทำให้ลูกน้อย หยุดหายใจขณะหลับ

Share:

คุณภาพการนอนของเด็ก เป็นเรื่องสำคัญเพราะส่งผลต่อพัฒนาการและสมาธิในการเรียนรู้ในแต่ละวัน แต่เมื่อคุณภาพการนอนลดลง เช่น มีอาการนอนกรน หรือหยุดหายใจขณะหลับ ที่พบได้ในเด็กก่อนวัยเรียนและวัยอนุบาล คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอย่างสม่ำเสมอ และพามาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา

แพทย์หญิงอิศราณี วารีสุนทร กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิล คือต่อมน้ำเหลืองในทางเดินหายใจส่วนบน อยู่บริเวณเยื่อบุหลังโพรงจมูกและคอหอย เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญในเด็กเล็ก อายุตั้งแต่ 2 – 12 ปี ทำหน้าที่ในการดักจับเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่จะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน แต่จะค่อย ๆ ลดบทบาทหน้าที่ลงเมื่อเด็กโตขึ้น

ภาวะต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิลโต อาจมีสาเหตุมาจากอาการภูมิแพ้หรือการติดเชื้อซ้ำๆในทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนขณะหลับ เกิดการนอนกรน หายใจเฮือกหรือสะดุ้งตื่นในช่วงหลับ นอกจากนี้การนอนกรนอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของโครงสร้างใบหน้า ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง และโรคอ้วน ดังนั้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกมีอาการนอนกรนหรือกรนจนสะดุ้งตื่นในช่วงหลับควรรีบมาปรึกษาแพทย์ เพราะหากไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนนรู้ สมาธิของเด็ก และการเจริญเติบโต

การวินิจฉัยภาวะต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิลโตในเด็ก แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติ และตรวจร่างกายเบื้องต้น ดูความผิดปกติของโครงสร้างใบหน้า และต่อมทอนซิลในช่องคอ และเอกซเรย์ช่วงคอเพื่อดูขนาดของต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิล และอาจพิจารณาให้นอนโรงพยาบาลเพื่อตรวจ Sleep Test เพื่อตรวจจับและบันทึกสัญญาณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ลักษณะการหายใจ คลื่นสมองคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การขยับของทรวงอก ระดับออกซิเจน และระดับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะช่วยให้ทราบว่าผู้ป่วยมีภาวะ หยุดหายใจขณะหลับ หรือไม่

การรักษาโรคต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิลโตในเด็ก เบื้องต้นอาจรักษาโดยการใช้ยาพ่นจมูกและยากิน แต่ในกรณีที่อาการรุนแรงอาจต้องได้รับการผ่าตัด โดยหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องนอนพักฟื้นเพื่อสังเกตอาการอย่างน้อย 1 คืน ซึ่งจำเป็นต้องเฝ้าระวังภาวะเลือดออกที่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับในเด็กจากต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอนซิลโต เป็นภาวะที่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการของลูกอย่างสม่ำเสมอ เพราะเป็นโรคที่สามารถตรวจและรักษาให้หายได้ แต่หากปล่อยไว้นาน หรือชะล่าใจ อาจส่งผลต่อการพัฒนาการ เรียนรู้ และอารมณ์ของลูกน้อยได้

แพทย์หญิงอิศราณีกล่าว

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 3310 , 3312 , 3319

  • Readers Rating
  • Rated 3.8 stars
    3.8 / 5 (11 )
  • Your Rating