บทความสุขภาพ

ภาวะนอนกรนในเด็ก อันตรายกว่าที่คิด ตรวจ “SLEEP TEST” ก่อนหยุดหายใจขณะหลับ

Share:

ภาวะนอนกรนในเด็ก ดูเหมือนเป็นปัญหาเล็ก ๆ แต่แท้จริงแล้วอาจเป็นอันตรายได้ หากเกิดร่วมกับภาวะหายใจแผ่ว หรือหยุดหายใจขณะนอนหลับเนื่องจากทางเดินหายใจอุดกั้น และเมื่อออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ หายใจไม่สะดวก เด็กจึงมักตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง ทำให้นอนหลับไม่เต็มอิ่ม ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การเรียนรู้ และพัฒนาการของเด็ก

คุณดุจดาว รุ่งธนวงศ์ มารดาของน้องเอ็ม เด็กชายณัฐชัย รุ่งธนวงศ์ มีความกังวลใจถึงภาวะการนอนหลับของบุตรชายที่กระทบต่อชีวิตประจำวัน จึงตัดสินใจพาบุตรชายเข้ามารับการตรวจสุขภาพการนอนหลับ Polysomnography หรือ Sleep Test ที่โรงพยาบาลเวชธานี เพื่อหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขที่ถูกต้อง

โดยคุณดุจดาว เล่าว่า “น้องเอ็มอายุ 10 ปี ศึกษาอยู่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 น้ำหนักตัว 85.8 กิโลกรัม มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ มักกรนและหายใจเสียงดัง นอนหลับไม่สนิท ลุกกึ่งนั่งกึ่งนอนช่วงกลางดึก แต่ง่วงนอนและงีบในช่วงเวลากลางวัน ไม่เว้นแม้กระทั่งระหว่างเรียนหนังสือและขณะสอบ คุณแม่ไม่แน่ใจว่าเป็นผลมาจากน้ำหนักตัว หรือเพราะปัญหาอื่น ๆ จึงอยากทราบว่าแท้จริงแล้วเกิดจากอะไร เพื่อแก้ไขและรักษาอย่างถูกวิธี”

มั่นใจกับการทำ Sleep Test

“คุณแม่ได้ศึกษาและหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำ Sleep Test มาแล้วเบื้องต้น เป็นการตรวจสุขภาพการนอนหลับที่ไม่มีผลกระทบใด ๆ โดยก่อนตัดสินใจคุณหมอให้ข้อมูลว่า ไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อร่างกายหรือผิวหนัง จึงมีความมั่นใจให้น้องเอ็มเข้ารับการทำ Sleep Test ครั้งนี้ และเชื่อว่า น้องเอ็มยังเด็ก หากทราบปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีค่ะ”

เตรียมตัวเพื่อตรวจ Sleep Test

“การเตรียมตัวไม่มีอะไรพิเศษ ไม่จำเป็นต้องอดนอน คุณหมอแนะนำให้น้องเอ็มใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ เพียงแค่อาบน้ำสระผมให้สะอาดก่อนเข้ารับการทำ Sleep Test  เมื่อถึงเวลาเจ้าหน้าที่จะติดอุปกรณ์ตามจุดต่าง ๆ ในช่วงเย็นก่อนเข้านอน”

นายแพทย์จุฬา คูอนันต์กุล กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงการตรวจสุขภาพการนอนหลับ Polysomnography หรือ Sleep Test ว่า

“การตรวจสุขภาพการนอนหลับ ถือเป็นอีกการตรวจสำคัญเพื่อวิเคราะห์การทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายขณะนอนหลับ อาทิ ระบบการหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือด การทำงานของคลื่นสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ กล้ามเนื้อ และศึกษาพฤติกรรมบางอย่างขณะนอนหลับ สำหรับประกอบการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น การกระตุกของกล้ามเนื้อ และพฤติกรรมผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับ เป็นต้น”

ความแตกต่างระหว่างการทำ Sleep Test ในเด็กและผู้ใหญ่

“โดยทั่วไปแล้วการตรวจและอุปกรณ์ที่ใช้กับเด็กและผู้ใหญ่ไม่ต่างกัน แต่ลักษณะการหายใจของเด็กและผู้ใหญ่นั้นแตกต่างกัน การตรวจสุขภาพการนอนหลับในเด็ก จึงจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กโดยเฉพาะในการตรวจ”

ขั้นตอนตรวจสุขภาพการนอนหลับ

“ผู้ปกครองและเด็ก ต้องมาพบแพทย์ก่อน 1 ครั้ง เพื่อวินิจฉัยระดับอาการ และตรวจว่ามีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ภูมิแพ้ หรือภาวะน้ำหนักตัวเกิน พร้อมทั้งประเมินภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการนอนกรนด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง เมื่อแพทย์วินิจฉัยเห็นสมควรแล้ว จึงส่งตัวคนไข้เข้ารับการตรวจ Sleep Test ต่อไป”

“สำหรับการตรวจ Sleep Test นั้น จะเริ่มติดอุปกรณ์และเครื่องมือในช่วงหัวค่ำ และเริ่มตรวจจับคลื่นสัญญาณต่าง ๆ ในช่วงเวลากลางคืนขณะที่เด็กนอนหลับ โดยแพทย์จะจำลองให้ลักษณะการนอนหลับของเด็ก มีความใกล้เคียงกับลักษณะการนอนหลับปกติมากที่สุด หลังจากนั้นแพทย์จะถอดเครื่องมือในช่วงเช้า และนำอุปกรณ์ไปวิเคราะห์ค่าต่าง ๆ เพื่อนำมาประเมินผลการรักษา”

การตรวจ Sleep Test มีผลข้างเคียงหรือไม่

“กล่าวได้ว่า การทำ Sleep Test แทบไม่มีผลข้างเคียง หรือมีน้อยมาก เช่น อาจเกิดรอยแดงจากพลาสเตอร์ในบริเวณที่ติดอุปกรณ์เท่านั้น โดยรอยแดงเหล่านี้จะค่อย ๆ จางลง และหายเป็นปกติตามเดิมในระยะเวลาสั้น ๆ”

ผลการตรวจ Sleep Test ของน้องเอ็ม และคำแนะนำจากแพทย์

“จากผลการตรวจ Sleep Test ของน้องเอ็ม พบว่า มีการหายใจแผ่ว และมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ราว 3-4 ครั้ง/ชั่วโมง ยังไม่จัดว่าอยู่ในระดับรุนแรงเท่าใดนัก แต่ต้องตรวจติดตามอีกระยะหนึ่ง ซึ่งสาเหตุหลักคือปัญหาน้ำหนักตัวที่มากเกินเกณฑ์ปกติ และอาการภูมิแพ้ นอกจากนี้ยังพบว่าต่อมทอนซิลและต่อมอดีนอยด์โตเล็กน้อย แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องผ่าตัด”

“สำหรับแนวทางแก้ไข แพทย์แนะนำให้น้องเอ็ม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และออกกำลังกายให้มากขึ้น เพื่อควบคุมน้ำหนักตัว และรักษาภาวะภูมิแพ้ ซึ่งหากสาเหตุเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขที่เหมาะสม ก็มีโอกาสที่จะเป็นหนักมากขึ้น และส่งผลกระทบอื่น ๆ ต่อสุขภาพ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง และกลุ่มอาการทางเมตาบอลิก (Metabolic Syndrome) หรือกลุ่มอาการอ้วนลงพุงนั่นเอง”


ด้าน น้องเอ็ม เด็กชายณัฐชัย รุ่งธนวงศ์ ผู้เข้ารับการตรวจ Sleep Test เผยความรู้สึกหลังตรวจสุขภาพการนอนหลับ ว่า

 “ผมนอนหลับสบายไม่รู้สึกเจ็บอะไรครับ หลังจากทราบผลตรวจแล้ว คุณหมอแจ้งว่าปัญหาหลักคือน้ำหนักตัว จึงแนะนำให้ผมควบคุมปริมาณอาหาร และออกกำลังหาย โดยผมก็จะตั้งใจควบคุมน้ำหนักต่อไปครับ เป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ”

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี โทร 02-734-0000 ต่อ 331

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (6 )
  • Your Rating