กล่าวได้ว่า “สเตียรอยด์” เป็นตัวยาสำคัญ มีสรรพคุณรักษาโรคได้หลากหลาย และนำมาใช้ทางการแพทย์อย่างกว้างขวาง แต่หลายต่อหลายครั้ง เรามักได้ยินเกี่ยวกับอันตรายจากการใช้ยาซึ่งมีสเตรียรอยด์เป็นส่วนผสม นั่นอาจเป็นเพราะการใช้ยาอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่อยู่ในการควบคุมของแพทย์หรือเภสัชกร และหากใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ตามมาได้
สเตียรอยด์ (Steroid) คือฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้น ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย เช่น ต้านการอักเสบ ควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ กดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
ทั้งนี้ สเตียรอยด์ทางการแพทย์ หมายถึง คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ซึ่งเป็นการสังเคราะห์เลียนแบบสเตียรอยด์ที่ร่างกายสร้างขึ้น โดยหวังผลในส่วนของฤทธิ์ต้านการอักเสบในร่างกาย แต่ด้วยฤทธิ์ครอบจักรวาลของสเตียรอยด์ จึงทำให้การใช้สเตียรอยด์สังเคราะห์นั้น เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์นอกเหนือจากเป้าหมายในการรักษาได้เช่นกัน
ยาสเตียรอยด์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ตามรูปแบบการใช้งาน
- ยาสเตียรอยด์ที่ใช้ภายนอก (External Use) หวังผลการรักษาให้ออกฤทธิ์เฉพาะที่
- ยาหยอดตา: สำหรับการอักเสบที่ตา เยื่อบุตาขาวอักเสบ
- ยาพ่นจมูก: ใช้ควบคุมอาการภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบ
- ยาสูดพ่นทางปาก: ใช้ควบคุมอาการทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง
- ยาทาทางผิวหนัง: ใช้สำหรับกดภูมิคุ้มกัน หรืออาการผื่นแพ้ที่ผิวหนัง
- ยาสเตียรอยด์ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย (Systemic Use) หวังผลการรักษาที่ให้ออกฤทธิ์ทั่วร่างกายทุกระบบ เช่น ยาฉีด และยารับประทาน ส่วนใหญ่ใช้ลดการอักเสบภายใน หรือเพื่อกดภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคภูมิแพ้ตนเอง (SLE) หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาทางเดินหายใจอักเสบเรื้อรัง และ อาการภูมิแพ้ทางผิวหนังหรือทางเดินหายใจที่รุนแรง เป็นต้น
ประโยชน์ของยาสเตียรอยด์
ด้วยความที่สเตียรอยด์เป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบ อันได้แก่ อาการปวด บวม แดง ร้อน ของเนื้อเยื้อภายในร่างกาย รวมถึงฤทธิ์ในการกดภูมิคุ้มกันและลดไข้ จึงนิยมใช้ในการรักษาอาการปวดของกล้ามเนื้อบางชนิด หรือโรคทางเดินหายใจที่มีการอักเสบของหลอดลมร่วมด้วย เพื่อบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บป่วยน้อยลง ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าอาการเจ็บปวดหายไปอย่างรวดเร็ว
แม้มีประโยชน์ในการรักษา แต่หากใช้นานเกินจำเป็น อาจเกิดผลข้างเคียง
โทษของสเตียรอยด์จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการใช้ยานานเกินความจำเป็น เช่น ได้รับยาในขนาดสูงเกินไป หรือได้รับยานานเกินไป โดยผลส่วนใหญ่ที่พบจะแบ่งเป็นผลทางผิวหนัง และผลต่อระบบอวัยวะภายในร่างกาย
- อาการทางผิวหนัง มักเกิดจากการใช้สเตียรอยด์รูปแบบครีม ได้แก่ ผิวหนังซีดบางลง ผิวหนังอักเสบแตกเป็นลาย เกิดสิวสเตียรอยด์ เป็นต้น
- ผลต่อระบบอวัยวะ เกิดจากกรณียารับประทาน ที่ใช้เป็นเวลานานหรือใช้พร่ำเพรื่อ ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อหลายระบบ เช่น อาการบวมน้ำ เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อแบคทีเรียจากฤทธิ์การกดภูมิคุ้มกัน เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มการสะสมไขมันที่ใบหน้า หลัง และท้อง เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน
ใช้สเตียรอยด์อย่างไร..ได้ประโยชน์ในการรักษาเต็มประสิทธิภาพและปลอดภัย
ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ให้การรักษา หรือปรึกษาเภสัชกรทุกครั้ง หากมีความจำเป็นต้องซื้อยาสเตียรอยด์สำหรับทาภายนอกใช้เอง เพื่อการใช้สเตียรอยด์อย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ดี ตามปกติแล้วยาสเตียรอยด์ในรูปแบบยาฉีดและยารับประทาน จะสามารถสั่งจ่ายภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ปัจจุบันมีการใส่สารสเตียรอยด์ในยาชุดลูกกลอน ที่อวดอ้างสรรพคุณรักษาสารพัดโรค ในปริมาณที่สูงกว่าขนาดปกติที่ใช้ในการรักษา ซึ่งจะทำให้ผู้รับประทานยาเกิดผลข้างเคียง และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตในบางรายได้
ข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยจากการใช้ยาสเตรียรอยด์
- ไม่ควรซื้อยาที่ไม่มีฉลากบ่งชี้ชัดเจน
- เลี่ยงการรับประทานยาชุดหรือยาลูกกลอน ที่ไม่มีฉลากกำกับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- ควรใช้ยาภายใต้คำสั่งของแพทย์
- ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร หากสงสัยว่ามีอาการข้างเคียงจากยาสเตียรอยด์
- Readers Rating
- Rated 3.1 stars
3.1 / 5 (Reviewers) - Good
- Your Rating