บทความสุขภาพ

เขี้ยวพิษแมลงก้นกระดก อันตรายที่มองไม่เห็น

Share:

ในช่วงฤดูฝนสิ่งที่ต้องระวังนอกเหนือจากไข้หวัด คือสัตว์มีพิษต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือ “แมลงก้นกระดก” ซึ่งหลายคนอาจจะไม่รู้ถึงความร้ายแรงในพิษของแมลงชนิดนี้ จึงมักกำจัดด้วยการปัดไล่เหมือนแมลงทั่วไป แต่หากพิษถูกผิวหนังจะทำให้เกิดผื่นคันหรือแผลพุพอง และหากพิษถูกบริเวณดวงตา อาจทำให้ตาบอดได้

แพทย์หญิงภาวดี ศึกษากิจ แพทย์ผิวหนังประจำศูนย์ผิวหนังและความงาม Wellness Center โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า แมลงก้นกระดกเป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ 7 – 8 มิลลิเมตร มีลำตัวสีดำสลับสีส้ม ส่วนปลายหางแหลม จะพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนเนื่องจากสภาพอากาศที่ชื้นและมืดลงในตอนกลางคืน แมลงก้นกระดกจึงมักออกมาหาอาหารและเล่นแสงไฟในบ้านเรือน นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ตามสถานที่ที่มีต้นไม้

แมลงก้นกระดกจะปล่อยสารที่เรียกว่า “พิเดอริน” (Pederin) ออกมา โดยสารชนิดนี้ก่อให้เกิดการระคายเคืองกับผิวหนังมาก สามารถทำลายเนื้อเยื่อผิวหนังของผู้ที่สัมผัสโดน ทำให้เกิดภาวะผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก หรือ Paederus dermatitis ซึ่งจะยังไม่เกิดขึ้นทันทีหลังสัมผัสโดน แต่จะเริ่มมีอาการเมื่อผ่านไปประมาณ 24 ชั่วโมง โดยจะมีอาการ เช่น แสบร้อน พบรอยไหม้ และตุ่มน้ำเป็นผื่นที่มีลักษณะคล้ายเป็นเริมหรืองูสวัด แต่จะพบเป็นรอยยาว ไม่เป็นกระจุก มักพบรอยบริเวณนอกเสื้อผ้า ความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณของสารพิษที่สัมผัสโดน ในบางคนที่แพ้พิษอาจมีอาการรุนแรง เช่น พุพอง คลื่นไส้อาเจียน หรือเริ่มมีไข้ ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากโดนบริเวณตา หรือเข้าตา อาจทำให้ตาบอดได้

ผื่นที่เกิดจากการสัมผัสแมลงก้นกระดก จะตกสะเก็ดและหายได้เองภายใน 7 – 10 วัน เมื่อหายแล้วอาจจะทิ้งรอยดำไว้สักระยะหนึ่ง มักไม่เกิดแผลเป็นนอกจากจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำที่บริเวณผื่น ทำให้ผื่นหายช้าลง และอาจลุกลามจนมีโอกาสเกิดเป็นแผลเป็นหลังจากผื่นหายแล้วได้

ทั้งนี้ หากสัมผัสโดนแมลงก้นกระดก ให้รีบล้างน้ำเปล่าหรือน้ำสบู่ และประคบเย็นในบริเวณที่สัมผัสโดน คอยสังเกตอาการและการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง ถ้าอาการผื่นเป็นมากขึ้น มีตุ่มน้ำพอง หรือเริ่มหายใจลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี 

“การรักษาอาจให้ครีมสเตียรอยด์ทาในผื่นแดงระยะเริ่มแรก แต่ถ้าผื่นมีตุ่มน้ำพองเป็นบริเวณกว้างหรือแผลไหม้ควรทำการประคบด้วยน้ำเกลือครั้งละ5-10 นาที วันละ  3-4 ครั้งจนแผลแห้ง ร่วมกับพิจารณายาปฏิชีวนะชนิดรับประทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ และรับประทานยาแก้คันเพื่อช่วยบรรเทาอาการคันในผู้ป่วยบางราย” แพทย์หญิงภาวดีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูฝนควรหลีกเลี่ยงการเดินในที่ที่มีแมลงก้นกระดูกชุกชุม เช่น บริเวณพื้นดินที่ชื้น, หากต้องเดินในที่ที่มีแมลงก้นกระดกชุกชุม ควรสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด, ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดเพื่อป้องกันแมลงเข้ามาในบ้าน เพื่อป้องกันการถูกสารพิษจากแมลงก้นกระดก

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์ผิวหนังและความงาม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-7340000 ต่อ 4200 , 4204

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (2 )
  • Your Rating