“โรคหลอดเลือดสมองตีบ” หลายคนอาจคิดว่าเป็นโรคไกลตัว เพราะส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้สูงอายุ แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ประกอบกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ที่นำพาตนเองไปสู่ปัจจัยเสี่ยงโดยไม่ทันคาดคิด อาทิ การรับประทานอาหาร การสูบบุหรี่ หรือขาดการออกกำลังกายอย่างพอเพียง ทำให้โรคหลอดเลือดสมองตีบสามารถเกิดขึ้นได้กับวัยรุ่นและวัยทำงานมากขึ้น ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้มักมีอาการรุนแรง บางรายอาจเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้
โรคหลอดเลือดสมองตีบ คือ ภาวะที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้สมองทำงานผิดปกติ สาเหตุอาจเกิดจากการตีบตันของหลอดเลือด อันเนื่องมาจากการเกาะของคราบไขมัน หินปูน หรืออาจเกิดจากลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือด โดยผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการผิดปกติของระบบประสาทอย่างเฉียบพลัน ซึ่งอาการและความรุนแรงขึ้นอยู่กับตำแหน่งสมองที่ขาดเลือด โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการชาบริเวณใบหน้าครึ่งซีก ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง บางรายอาจมาด้วยอาการมองเห็นผิดปกติ เช่น ตามัว เห็นภาพซ้อน เดินเซ สูญเสียการทรงตัว เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยง
สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ ระหว่างผู้สูงอายุ และวัยรุ่นวัยทำงาน สามารถแบ่งได้เป็น 2 ปัจจัย คือ
- ปัจจัยที่เหมือนกัน และสามารถป้องกันได้ เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหาร อันก่อให้เกิด ภาวะเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังรวมไปถึง การสูบบุหรี่ เป็นต้น
- ปัจจัยที่แตกต่างกัน และควบคุมไม่ได้ เช่น อายุ เมื่ออายุมากขึ้น ความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบก็จะเพิ่มตามขึ้นด้วย แต่ในวัยรุ่นหรือวัยทำงาน จะมีโรคบางโรคที่ส่งผลให้เกิดโรคสมองตีบได้ เช่น โรคหัวใจผิดปกติ ลิ้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความผิดปกติของการแข็งตัวของหลอดเลือด หรือ โรคหลอดเลือดผิดปกติจากพันธุกรรม หรือการอักเสบของหลอดเลือด เป็นต้น
การตรวจวินิจฉัย
การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองตีบทั้งในผู้สูงอายุ และวัยรุ่นวัยทำงาน สามารถตรวจได้หลายวิธี ตั้งแต่การตรวจสแกนคอมพิวเตอร์ ฉีดสีดูหลอดเลือด หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI สมอง เป็นต้น แต่ปัจจุบันมีวิธีที่ง่ายกว่า สามารถทำได้ทันที คือ การตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดที่คอ ซึ่งการตรวจนี้สามารถดูได้ทั้งขนาดของหลอดเลือด และเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง รวมถึงสามารถดูคราบหินปูน และคราบไขมันที่เกาะตามเส้นเลือดได้อีกด้วย ซึ่งผู้ที่ควรตรวจด้วยวิธีอัลตร้าซาวด์หลอดเลือดที่คอ ได้แก่
- ผู้ที่มีอาการหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน
- ผู้ป่วยที่แพทย์ตรวจพบเสียงฟู่ผิดปกติที่คอ ทั้งที่อาจจะเคยหรือไม่เคยมีอาการหลอดเลือดสมองตีบมาก่อน
- ผู้ป่วยที่ต้องการประเมินก่อนการผ่าตัด เพื่อดูความเสี่ยงของการเกิดหลอดเลือดสมองตีบ โดยเฉพาะการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การผ่าตัดหลอดเลือดและหัวใจ
- คนไข้ที่เป็นโรคกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิตสูง หรือคนไข้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบระยะเฉียบพลัน ปัจจุบันมีวิธีการรักษาด้วยยาฉีดละลายลิ่มเลือดเข้าทางหลอดเลือดดำ หรือการใส่สายสวนหลอดเลือด ซึ่งเป็นการเปิดหลอดเลือดไปเลี้ยงสมองได้รวดเร็ว ลดความเสี่ยงของการเกิดอัมพฤกษ์หรืออัมพาต ซึ่งการรักษาดังกล่าวจะสามารถทำได้ หากผู้ป่วยมีอาการและมาถึงโรงพยาบาลภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง และ 6 ชั่วโมงตามลำดับ และไม่มีข้อห้ามของการรักษา ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติ ที่สงสัยว่าหลอดเลือดสมองตีบตันเฉียบพลัน จึงควรรีบมาโรงพยาบาลทันที
ส่วนการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ จะเน้นที่การตรวจหาปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองตีบ หากตรวจพบและรักษาได้เร็ว จะสามารถป้องกันโรคหลอดเลือดสมองตีบได้ รวมไปถึงการงดสูบบุหรี่ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถช่วยป้องกันได้เช่นกัน
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating