บทความสุขภาพ

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ “โรคสะเก็ดเงิน”

Share:

สะเก็ดเงิน (Psoriasis) คือโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่โรคติดต่อ ลักษณะของโรคสะเก็ดเงิน คือ มีผื่นแดง หากเป็นมากผู้ป่วยอาจมีเลือดออกในปื้นได้ มีเกล็ดสีเงินขึ้นที่ผิวหนัง และลุกลามเข้าไปในเล็บ หรือมีการอักเสบของข้อต่าง ๆ สามารถขึ้นได้ทุกส่วน มักพบ บริเวณ ข้อศอก เข่า หลัง หลังมือ หลังเท้า หนังศีรษะ และใบหน้า อาการของโรค จะเป็น ๆ หาย ๆ อยู่ตลอด ไม่หายขาด สามารถพบได้ในคนทุกวัย ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่

สาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน

สาเหตุของโรคสะเก็ดเงินยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่โดยรวมมาจากหลาย ๆ ปัจจัยร่วมกัน เช่น ภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือ เกิดจากพันธุกรรม โดยปกติเซลล์ผิวหนังจะเกิดขึ้นมาใหม่ทดแทนเซลล์ตายที่หลุดออกเป็นขี้ไคล แต่ในรายที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน เซลล์ผิวหนังจะแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ ทำให้เซลล์ผิวหนังที่แก่ตัวหลุดไม่ทันการแบ่งตัวของเซลล์ใหม่ ผิวหนังบริเวณดังกล่าวจึงหนาขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นผื่นสะเก็ดหนา
อย่างไรก็ตาม โรคสะเก็ดเงิน ไม่ได้มีเพียงปัจจัยทางด้านพันธุกรรมเท่านั้น แต่มักจะมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามากระตุ้นร่วมด้วย ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคดังกล่าว ต้องหมั่นสังเกตอาการตนเอง หาสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคให้พบ เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดโรคซ้ำขึ้นมาอีก

สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน

  • การใช้ยา ผู้ป่วยจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องหลีกเลี่ยงการซื้อยามาทานเอง
  •  อาการติดเชื้อ ไม่ว่ามาจากการติดเชื้อใดก็ตาม อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบได้
  • การแกะเกา กดทับที่ผิวหนัง ทำให้เกิดรอยถลอก เกิดบาดแผล ซึ่งรอยเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้ผื่นของโรคสะเก็ดเงิน กำเริบและลุกลามได้ โดยมากมักพบบริเวณศอก เข่า ก้นกบ
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน จะกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ด้วยเสมอ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน จะมีอาการกำเริบได้เมื่อร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง
  • ภาวะเครียด และสภาพจิตใจของผู้ป่วย เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพล ส่วนใหญ่ ผู้ป่วย มักมีความเครียด โกรธง่าย นอนไม่หลับ ทำให้เกิดผื่นแดงคันมากขึ้น หากผู้ป่วยแกะเกาจะส่งผลให้โรคกำเริบขึ้นมาได้
  • พฤติกรรม ที่เสี่ยงต่อการให้เกิดโรค เช่น การดื่มแอลกอฮอลล์ การสูบบุหรี่ หรือการเล่นกีฬาอย่างหักโหม
  • สภาพอากาศ แสงแดด อากาศร้อนอบอ้าว หรืออากาศที่หนาวเย็น สามารถกระตุ้นให้อาการของโรคกำเริบได้เช่นกัน
  • ภาวะแทรกซ้อนของโรคสะเก็ดเงิน
  • ส่วนใหญ่โรคนี้มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง แต่จากรอยโรคที่เป็นแบบเรื้อรัง อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียด วิตกกังวล เกิดอาการซึมเศร้า สูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง และกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและการออกสังคมได้
  • ในรายที่มีอาการคันมาก อาจเกาจนมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
  • ในรายที่เป็นรุนแรง เช่น เป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนองที่ขึ้นกระจายไปทั่วตัว หรือสะเก็ดเงินชนิดแดงและเป็นสะเก็ดทั่วตัว อาจทำให้เกิดภาวะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ และเกิดการติดเชื้อรุนแรงได้
    ในรายที่เป็นที่เล็บ อาจทำให้เล็บพิการ
  • ในรายที่เป็นข้ออักเสบ อาจทำให้ข้อพิการ
  • อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคมะเร็งผิวหนังบางชนิด (Non melanoma skin cancer)

การวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงิน

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการใช้ยาทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติครอบครัว การตรวจร่างกาย ตรวจความผิดปกติของผิวหนัง ส่วนในรายที่มีอาการไม่ชัดเจน อาจต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) โดยการตัดเนื้อเยื่อผิวหนังส่งพิสูจน์ และอาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

  • Readers Rating
  • Rated 3.8 stars
    3.8 / 5 (14 )
  • Your Rating