บทความสุขภาพ

ไวรัสโรต้า วายร้ายทำเด็กท้องร่วงรุนแรง

Share:

ช่วงนี้ครอบครัวที่บ้านมีเด็กเล็ก มักจะกังวลเรื่องไข้หวัด จนหลงลืมไปว่าเด็กเล็กๆ โดยเฉพาะที่มีอายุระหว่าง 3 เดือนถึง 3 ขวบ ยังมีอีกโรคหนึ่งที่ต้องระมัดระวัง นั่นคือ ภาวะท้องร่วงรุนแรง ที่มาจาก “เชื้อไวรัสโรต้า” ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่พบบ่อยที่สุด ในบรรดาเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงในเด็กเล็ก เมื่อเทียบกับอาการท้องร่วงที่มาจากการติดเชื้อไวรัสอื่นๆ

โรคนี้สามารถพบได้ทั่วโลก แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีความรู้ด้านสาธารณสุข และสุขอนามัยก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็ยังสามารถเกิดโรคนี้ได้ โดยเฉพาะในอเมริกาที่ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคนี้นับล้านคน แต่ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ มีเด็กเสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ย 100 คนต่อปี

แม้ว่าเชื้อไวรัสโรต้าจะพบมากในช่วงฤดูหนาว แต่ก็สามารถพบได้ในฤดูอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาความสะอาดสุขอนามัย เพราะเป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้ง่ายมาก สามารถรับเชื้อได้จากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ โดยเฉพาะในเด็กที่ชอบหยิบสิ่งของเข้าปาก ชอบอมของเล่นที่มีเชื้อโรคเกาะอยู่ เนื่องจากเชื้อไวรัสโรต้าจะมีชีวิตอยู่ตามวัตถุสิ่งของในอุณภูมิปกติ โดยอาจติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก หรืออุจจาระของผู้ป่วย และอาจเกิดจากการไอจามรดกัน ไวรัสโรต้าสามารถตรวจพบในอุจจาระของผู้ป่วยได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มอาการถ่ายเหลว โดยระยะฟักตัวของโรคนี้จะเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อเกิน 48 ชั่วโมง และเชื้อไวรัสอาจคงอยู่ได้นานถึง 21 วันหลังจากมีอาการ

อาการของโรค

เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อโรต้าไวรัสเข้าสู่ร่างกาย เชื้อมีระยะฟักตัว 2-4 วัน ต่อมาเริ่มมีอาการไข้สูง และมีอาการของหวัดนำมา อาเจียนใน 2-3 วันแรกก่อนมีอาการอุจจาระเป็นน้ำอยู่นานประมาณ 3-8 วัน ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจพบภาวะขาดน้ำ หรือถึงขั้นเกิดภาวะช็อคได้ นอกจากนี้อาจมีสารเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติและภาวะพร่องแลคเตสร่วมด้วย

ขณะเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่บางคนยังนิ่งนอนใจกับอาการท้องร่วงของลูกน้อยคิดว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเด็กในวัย 3 เดือนถึง 2 ขวบ เป็นวัยที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงจากไวรัสโรต้าได้มากที่สุด โดยจะมีอาการไข้ อาเจียน ท้องเสียโดยถ่ายเหลวเป็นระยะ 1-2 วัน ซึ่งมีกลิ่นเหม็นเน่า หรืออาจพบอุจจาระเป็นมูกแต่ไม่มีเลือดปนประมาณ 5-7 วัน

การรักษา

ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการและการรักษาแบบประคับประคอง ได้แก่  ถ้ามีไข้ ควรให้ยาลดไข้ ร่วมกับการเช็ดตัวเพื่อลดไข้เป็นระยะ ให้สารน้ำโดยการรับประทานหรือการให้เข้าทางเส้นเลือด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขภาวะขาดน้ำ ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ถ้าผู้ป่วยมีคลื่นไส้หรืออาเจียนให้พิจารณาให้ยาลดอาการคลื่นไส้อาเจียน, มีภาวะพร่องแลคเตสให้พิจารณาเปลี่ยนนมเป็นนมที่ไม่มีแลคโตส ( Free Lactose)
ให้ผู้ป่วยรับประทานทานอาหารอ่อน รสไม่จัด ควรให้อาหารและน้ำทีละน้อยๆ แต่ให้บ่อยๆ
นอนพักผ่อน

การป้องกันโรค

  1. การรักษาสุขอนามัย เป็นการป้องกันที่สำคัญที่สุด
    รักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อยๆ (ด้วยน้ำและสบู่) โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งการใช้ช้อนกลาง และหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดมือ เป็นต้น
    สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ รวมถึงการกำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกต้องด้วย หากพบเด็กป่วย ต้องรีบป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่นๆ ควรแนะนำผู้ปกครองให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ และห้างสรรพสินค้า และผู้เลี้ยงดูเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระเด็กป่วย
    ในกรณีที่เป็นทารกและเด็กเล็ก แนะนำการให้นมมารดา เนื่องจากในน้ำนมมารดามีสารภูมิต้านทานที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคอุจจาระร่วง แต่ในรายที่ใช้นมผสมและขวดนม ควรชงนมในปริมาณที่พอดีต่อการให้นมแต่ละครั้ง ทำความสะอาดขวดนมให้สะอาดและนำไปต้มหรือนึ่งทุกครั้งก่อนการนำมาใช้ใหม่
  2. วัคซีน
    ปัจจุบัน ได้มีการผลิตวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า โดยเริ่มผลิตครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อ 10 ปีก่อน แม้มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรค แต่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ได้แก่ การเกิดโรคลำไส้กลืนกัน จึงมีการระงับการใช้ไป ต่อมาเมื่อ 2 ปีก่อนได้มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งวัคซีนรุ่นใหม่นี้เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ในการป้องกันโรคและมีความปลอดภัยสูง
    วัคซีนโรต้าใช้รับประทานในเด็กเล็กอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป ให้ 2-3 ครั้งแล้วแต่ชนิดของวัคซีน แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ควรให้แล้วเสร็จก่อนอายุ 6 หรือ 8 เดือนขึ้นกับชนิดของวัคซีน อาจมีผลข้างเคียงที่พบได้บ้าง คือ ไข้ ถ่ายเหลว และอาเจียน
    แม้ว่าปัจจุบันจะมีวัคซีนหยอด เพื่อป้องกันเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถลดการติดเชื้อได้หรือลดความรุนแรงของอาการได้ก็จริง แต่การใช้วัคซีนจึงอยู่ในวงจำกัด ยังไม่ทั่วถึง เพราะไม่ได้อยู่ในโปรแกรมของการให้วัคซีนแก่เด็กทั่วประเทศตามที่กระทรวงสาธารณสุขระบุ

สอบถามเพิ่มเติมที่ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-2734-0000 ต่อ 3310, 3312, 3319

  • Readers Rating
  • Rated 4.8 stars
    4.8 / 5 (2 )
  • Your Rating