บทความสุขภาพ

หน้าร้อนพ่อแม่ระวังเด็กเล็กอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ขับถ่ายผิดสังเกต เพลีย ซึม รีบพบแพทย์

Share:

ภาวะท้องเสียเป็นปัญหาที่พบบ่อยโดยเฉพาะช่วงหน้าร้อน หากได้รับการดูแลรักษาที่ไม่เหมาะสมอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเป็นอันตรายต่อเด็กได้ และมีโอกาสเกิดปัญหาอุจจาระร่วงยืดเยื้อหรือเรื้อรังตามมา ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของลูกอย่างมาก

พญ.วิมล เสกธีระ กุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิด โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงภาวะท้องเสียในเด็กว่า ในทางการแพทย์เด็กที่มีภาวะท้องเสียจะหมายถึง เด็กที่มีการถ่ายอุจจาระเหลว จำนวน 3 ครั้งต่อวันหรือมากกว่า หรือถ่ายมีมูกหรือเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง หรือถ่ายเป็นน้ำจำนวนมากกว่า 1 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน ยกเว้นทารกแรกเกิดที่กินนมแม่

ส่วนภาวะเด็กยืดตัวในภาษาโบราณสันนิษฐานว่า เด็กที่อยู่ในวัยยืดตัวจะเป็นวัยที่ชอบเอาสิ่งของต่างๆ เข้าปาก จึงทำให้มีภาวะถ่ายเหลวได้ แต่อาการจะไม่รุนแรง และมักจะหายได้เอง ซึ่งทางการแพทย์จะไม่มีภาวะเด็กยืดตัว

สาเหตุของภาวะท้องเสียในเด็ก อาจเกิดจากภาวะติดเชื้อในลำไส้ซึ่งมีทั้งแบคทีเรียหรือไวรัส เกิดจากการติดต่อจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่งผ่านทาง fecal – oral – route (จากอุจจาระผ่านทางปาก) หรือโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อบางชนิดทำให้เกิดโรคท้องเสีย และภาวะอาหารเป็นพิษได้ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น การแพ้นมวัว หรือแพ้อาหารอื่นๆ หรือจากการใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ เป็นต้น

สัญญาณอันตรายที่ควรรีบพบแพทย์

เมื่อเด็กมีภาวะขาดน้ำ เช่น ตาโหล เพลีย ซึม กระหม่อมหน้าบุ๋มลงลึก ปัสสาวะออกน้อยลง โดยเฉพาะถ้าไม่ปัสสาวะเลยภายใน 8 ชั่วโมง หรือมีภาวะไข้สูง ซึมหรือชักเกร็ง เนื่องจากเด็กที่ถ่ายเหลวมักเสียทั้งน้ำและเกลือแร่ต่างๆ ออกมาทางอุจจาระ ถ้าไม่ได้รับสารน้ำหรือเกลือแร่ชดเชย ทำให้มีภาวะขาดสมดุลของน้ำและเกลือแร่ อาจทำให้เด็กมีอาการชักเกร็งได้

นอกจากนี้ถ้าลูกๆ อาเจียนมาก กินไม่ได้เลย หรือถ่ายมากและบ่อยครั้งหรือถ่ายเป็นมูกเลือด ควรรีบพบแพทย์ทันที

การดูแลรักษาเบื้องต้นเมื่อมีภาวะท้องเสีย

ควรให้เด็กรับสารน้ำหรือเกลือแร่ เพื่อชดเชยอย่างพอเพียงโดยให้ สารละลายเกลือแร่(ORS) สำหรับเด็กโดยเฉพาะ ควรงดอาหารเสริมต่างๆ ชั่วคราว โดยเฉพาะงดอาหารประเภทผัก ผลไม้ น้ำผลไม้ ไข่ อาหารมันๆ ควรให้รับประทานแค่ข้าวต้มอ่อนๆ รับประทานทีละน้อย แต่บ่อยๆ แทน

สำหรับนม ถ้าเป็นนมแม่สามารถรับประทานต่อได้ แต่ถ้าเป็นนมผสมควรเจือจางนมลงเท่าตัว ถ้ายังไม่ดีอาจต้องเปลี่ยนนมเป็นนมสำหรับภาวะท้องเสียโดยเฉพาะ คือนมที่ไม่มีน้ำตาลแลคโตส เช่น โอแลค ซิมิแลค แอลเอฟ หรือแนนแอลเอฟ เป็นต้น หรืออาจรับประทานนมประเภทนมถั่วเหลือได้

ข้อควรระวังที่สำคัญคือคุณแม่หรือผู้ดูแลไม่ควรซื้อยาแก้ท้องเสียมาให้เด็กรับประทานเอง เนื่องจากจะเกิดอันตรายต่อเด็กมากกว่า ถ้าไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์สำหรับการใช้ยา

วิธีป้องกันภาวะท้องเสีย

  • ควรรับประทานนมแม่ให้นานที่สุด โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก
  • ทำความสะอาด ล้างขวดนมให้ถูกวิธี ต้มขวดในน้ำเดือด 10-15 นาที หรือใช้เครื่องนึ่งขวดนมสำเร็จรูป หรือถ้าใช้ซึ้งนึ่งควรใช้เวลา 25-30 นาที
  • ให้อาหารเสริมตามวัย ดูแลความสะอาดในการเตรียมอาหารและภาชนะที่ใส่
  • ควรเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ร้อนๆ ไม่ควรตั้งทิ้งไว้นาน และหลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงจากกะทิ อาหารทะเล เนื่องจากหน้าร้อน อากาศร้อน อาหารจะบูดเสียง่าย
  • ควรมีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี ล้างมือให้สะอาดก่อนเตรียมอาหาร ชงนม ให้นม หรือป้อนอาหารให้ลูก
  • คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก เพื่อป้องกันภาวะท้องร่วงในเด็ก

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-27340000 ต่อ 3310, 3312, 3319

  • Readers Rating
  • Rated 4.3 stars
    4.3 / 5 (4 )
  • Your Rating