บทความสุขภาพ

วัคซีน เสริมสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับลูกน้อย

Share:

วัคซีน …สำคัญอย่างไร?

การให้ วัคซีน แก่ลูกน้อยเป็นวิธีการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่สำคัญ วัคซีนจะกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคเป้าหมาย เมื่อเด็ก ๆ ได้รับวัคซีนแล้วจะทำให้โอกาสป่วยเป็นโรคติดต่อต่าง ๆ ลดลงอย่างมาก ทั้งยังลดความพิการและการเสียชีวิต เด็ก ๆ จึงมีสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมที่จะเติบโตและมีพัฒนาการอย่างสมวัย

วัคซีน ที่ลูกน้อยควรได้รับมีอะไรบ้าง ?

วัคซีนสำหรับเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้จัก แบ่งอย่างง่าย ๆ ได้เป็น 2 ประเภท คือ

วัคซีนพื้นฐาน

คือ วัคซีนที่อยู่ในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ แนะนำให้ได้ใช้ในเด็กไทยทุกคน ได้แก่

  • วัคซีน บีซีจี ป้องกันวัณโรค ให้ตั้งแต่แรกเกิด
  • วัคซีน ตับอักเสบบี ให้ 3 ครั้ง ตั้งแต่แรกเกิด อายุ 1-2 เดือน และ อายุ 6 เดือน
  • วัคซีน โปลิโอ ให้เมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน 1 ขวบครึ่ง และ 4-6 ขวบ
  • วัคซีน คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ ให้พร้อมกับวัคซีนโปลิโอ คือ ให้เมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน 1 ขวบครึ่ง, 4-6 ขวบ และกระตุ้นเมื่ออายุ 11-12 ปี
  • วัคซีน หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม ให้เมื่ออายุ 9-12 เดือน และให้ครั้งที่ 2 เมื่ออายุ2 ขวบครึ่ง
  • วัคซีน ไข้สมองอักเสบเจอี ให้เมื่ออายุ 9-12 เดือน และกระตุ้นอีกครั้ง 12-18 เดือนต่อมา

วัคซีนเสริม

หรือ วัคซีน ทางเลือก เป็นวัคซีนที่มีประโยชน์แต่ยังมีราคาสูง จึงไม่สามารถจัดหาให้แก่เด็ก ๆ ทุกคนได้ ซึ่งในหลาย ๆ ครั้งก็ก่อให้เกิดโรครุนแรง ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง หากต้องการให้ลูกน้อยได้รับวัคซีน ได้แก่

  • วัคซีน ป้องกันโรคจากเชื้อ Haemophilus Influenzae Type B (Hib) ซึ่งก่อโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ให้เมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน และกระตุ้นเมื่ออายุ 1-1 ขวบครึ่ง
  • วัคซีน ป้องกันโรคจากเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งก่อให้เกิดการติดเชื้อแบบรุกราน (Invasive Pneumococcal Diseases : IPD) เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด กระดูกและข้อติดเชื้อ ให้ฉีดเมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน และกระตุ้นเมื่ออายุ 12-15 เดือน
  • วัคซีน ป้องกันโรคท้องเสียจากไวรัสโรต้า ให้ 2 หรือ 3 ครั้ง (ขึ้นกับชนิดวัคซีน) เมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน โดยการหยอด
  • วัคซีน ไอกรนชนิดไร้เซลล์ ซึ่งได้รับการพัฒนาเพื่อให้มีผลข้างเคียงลดลง บรรจุรวมกับวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก สามารถใช้แทนวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ได้ทุกครั้ง
  • วัคซีน ไข้หวัดใหญ่ ให้ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป สำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 9 ปีการฉีดปีแรกต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน ในปีต่อมาให้ฉีดปีละ 1 ครั้ง
  • วัคซีน ตับอักเสบเอ ให้ได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี โดยให้ 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน
  • วัคซีน อีสุกอีใส ให้ได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และให้ครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 2 ขวบครึ่ง – 4 ขวบ ปัจจุบันมีวัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม-อีสุกอีใส ซึ่งสามารถพิจารณาใช้แทนการฉีดแบบแยกเข็มได้ในเด็กอายุ 1-12 ปี
  • วัคซีน เอชพีวี ป้องกันมะเร็งปากมดลูก หูดอวัยวะเพศ (และมะเร็งอวัยวะเพศ มะเร็งทวารหนักในผู้ชาย) ให้ได้ตั้งแต่อายุ 9-26 ปี โดยฉีด 3 เข็ม ที่ 0, 6, 12 เดือน หากเริ่มฉีดเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี ฉีดเพียง 2 เข็มได้ โดยฉีดเข็มที่ 2 เมื่อ 6-12 เดือนต่อมา สำหรับเด็กชายให้ฉีดเฉพาะชนิด 4 สายพันธุ์ แต่เด็กหญิงสามารถเลือกใช้ชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์อย่างใดอย่างหนึ่ง
  • วัคซีนไข้เลือดออก ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-45 ปี โดยให้ 3 ครั้ง ที่ 0, 6 และ 12 เดือน

อาการข้างเคียงจาก วัคซีน

หลังจากลูกน้อยได้รับวัคซีนทุกครั้งควรเฝ้าสังเกตอาการที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 30 นาที เนื่องจากปฏิกิริยาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) มักเกิดขึ้นภายใน 30 นาทีหลังได้รับวัคซีน ฝีจากวัคซีนบีซีจีที่ฉีดเมื่อแรกเกิดลูกน้อยอาจเป็นฝีใต้ผิวหนังขนาดเล็กอยู่ได้นาน 3-4 สัปดาห์ ไม่ต้องใส่ยาหรือปิดแผล ให้เช็ดแผลด้วยสำลีชุบน้ำต้มสุก หากมีต่อมน้ำเหลืองใกล้ตำแหน่งที่ฉีดวัคซีนบีซีจีมีขนาดใหญ่ควรไปพบแพทย์ อาการปวด บวมบริเวณที่ฉีดวัคซีนมักจะไม่เป็นอันตราย ให้การรักษาด้วยยาพาราเซตามอล อาการไข้ ร้องกวน อาเจียน ท้องเสียเป็นอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรง ดูแลโดยให้ยาพาราเซตามอล และรักษาตามอาการ

หากมีอาการรุนแรง เช่น ชักสะลึมสะลือ โคม่า มีผื่นลมพิษรุนแรงหายใจลำบาก ตัวเขียว ชีพจรเบาเร็วควรไปพบแพทย์ทันที

ข้อควรรู้อื่น ๆ เกี่ยวกับ วัคซีน

เมื่อมาถึงวันนัดฉีดวัคซีน แต่ลูกน้อยกลับมีไข้สูง ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน แต่หากป่วยเพียงเล็กน้อย เช่น เป็นหวัดโดยไม่มีไข้ หรือท้องเสียเล็กน้อย ก็สามารถรับวัคซีนได้

หากแพ้วัคซีนหรือส่วนประกอบ ควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนนั้นๆ หากลูกน้อยแพ้ไข่รุนแรงไม่ควรรับวัคซีนที่ผลิตจากไข่ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่แต่สามารถรับวัคซีนหัดได้ เพราะในวัคซีนมีไข่ปนอยู่น้อยมาก ควรพาลูกน้อยมารับวัคซีนตามวันนัด อย่างไรก็ดี การมารับวัคซีนช้ากว่ากำหนด ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นฉีดวัคซีนชุดใหม่ ให้นับต่อจากวัคซีนครั้งก่อนได้เลย

ควรนำสมุดบันทึกวัคซีนมาพบแพทย์ทุกครั้งที่รับวัคซีน และเก็บสมุดบันทึกวัคซีนไว้จนลูกน้อยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับประเมินภูมิคุ้มกันโรค

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-27340000 ต่อ 3310, 3312, 3319

  • Readers Rating
  • Rated 4.8 stars
    4.8 / 5 (6 )
  • Your Rating