บทความสุขภาพ

โรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในเด็ก (Allergic Rhinitis)

Share:

โรคเยื่อบุจมูกอักเสบ จากภูมิแพ้ในเด็ก เป็นโรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายชนิดที่มีอาการแสดงทาง จมูก เกิดหลังจากได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไป แล้วเกิดการอักเสบของเยื่อบุจมูก ทำให้เกิดอาการคัน น้ำมูกไหล จาม และคัดจมูก ตั้งแต่น้อยจนไปถึงมาก

อุบัติการณ์

โรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในเด็กเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก อุบัติการณ์ของโรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 20 – 40 ในเด็กไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครพบเด็กที่เป็นเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในเด็กถึง 40% และที่พบร่วมกับเยื่อบุตาอักเสบประมาณร้อยละ 13 อุบัติการณ์ของโรคนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น เชื่อว่าการที่มีปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประชากรสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองในอากาศทำให้พบผู้ป่วยมากขึ้นกว่าเดิม

ความสำคัญ

แม้ว่าโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในเด็กนี้มักไม่รุนแรง แต่มีผลต่อการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมของเด็กๆ และมีผลต่อการเรียน ทำให้คุณภาพชีวิตทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และการเข้าสังคมแย่ลง เมื่อเทียบกับเด็กปกติทั่วไป ยิ่งกว่านั้นค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคนี้ก็มีมูลค่าค่อนข้างสูง นอกจากนี้การที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ เช่นหูชั้นกลางอักเสบ โรคหืด ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก นอนกรน และภาวะหยุดหายใจในขณะหลับ

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในเด็ก

  • พันธุกรรมและประวัติครอบครัว ถ้าบิดามารดาหรือพี่น้องท้องเดียวกันมีประวัติภูมิแพ้ ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มากขึ้น
  • สารก่อภูมิแพ้ที่หายใจเข้าไป
  • มลภาวะจากควันบุหรี่จะกระตุ้นให้อาการจมูกอักเสบและภูมิแพ้ในเด็กมากขึ้น

ลักษณะทางคลินิก

อาการ

เมื่อเด็กๆ สัมผัสสารก่อภูมิแพ้ในเด็ก เช่น ไรฝุ่นบ้านจะมีอาการคันจมูกและอาจมีอาการจามติดๆ กันหลายครั้งพร้อมมีน้ำมูกใสๆ กับอาการคัดจมูกตามมา อาการดังกล่าวมักอยู่เป็นนาทีหรือชั่วโมง หลังจากนั้นจะหายได้เอง โดยอาจมีอาการคันที่ตา คอ หู หรือที่เพดานปากด้วย นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาการปวดศีรษะ เสียงเปลี่ยน น้ำมูกไหลลงคอ ไอเรื้อรัง

อาการแสดง

เด็กๆ ที่มีอาการตั้งแต่อายุยังน้อยและเป็นอยู่นาน ทำให้ต้องหายใจทางปากเสมอ อาจทำให้การเจริญเติบโตของกระดูกใบหน้าและฟันผิดปกติคือใบหน้าส่วนล่างจะ ยาวกว่าปกติ เนื่องจากต้องอ้าปากหายใจตลอดเวลา เพดานปากจะแคบและโค้งสูงในเด็กที่มีอาการคันจมูก เด็กมักจะยกมือขึ้นขยี้ หรือ เสยที่ปลายจมูกบ่อยๆ การทำเช่นนี้นานๆ อาจทำให้เกิดมีรอยย่นที่สันจมูก รายที่มีอาการคัดจมูกอยู่นานๆ อาจทำให้มีการคั่งของเลือดบริเวณใต้ขอบตาล่าง

เป็นหวัดบ่อยๆ แล้วเมื่อไรจึงจะสงสัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็ก

อาการไข้หวัด เด็กๆ มักจะมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ โดยอาการมักเป็นไม่นานเกิน 1-2 สัปดาห์ ถ้าอาการหวัดเป็นประจำและเรื้อรังเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน จามบ่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงเช้า อาการคันจมูกหรือคันตาเป็นๆ หายๆ อาการคัดจมูกหายใจไม่สะดวกร่วมกับมีน้ำมูกใสๆ ทุกวัน ให้สงสัยว่าน่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ของจมูก โดยเฉพาะหากมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวร่วมด้วย

การวินิจฉัยโรค

มีจุดประสงค์เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค รวมทั้งวินิจฉัยโรคอื่น ที่อาจเกิดร่วมกับโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในเด็กและผลแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นจากโรคนี้ เพื่อที่จะได้ให้การรักษาไปพร้อมกัน

  1. ประวัติ อาศัย ลักษณะเฉพาะของอาการ เมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ สัตว์เลี้ยง และสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วย ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน อาจมีโรคภูมิแพ้อื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคหืด, โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้, โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ประวัติครอบครัวก็มีส่วนช่วยในการวินิจฉัยโรค โดยผู้ป่วย อาจมีพ่อ แม่ หรือ พี่น้อง เป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ ดังกล่าวได้
  2. การตรวจร่างกายถ้าตรวจขณะที่มีอาการก็อาจพบว่ามีเยื่อบุจมูกสีซีดหรือสีคล้ำ เยื่อบุจมูกบวมมีน้ำมูกใสปริมาณมาก ถ้าตรวจขณะที่ไม่อาการหรือผู้ป่วยกินยาระงับอาการของโรคภูมิแพ้ในเด็กอยู่ ก็อาจไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ
    สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจร่างกายสิ่งที่สำคัญมาก คือการตรวจโดยใช้ otoscope ส่องดูภายในโพรงจมูก ซึ่งจะสามารถช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคในโพรงจมูกได้ ทั้งนี้ในปัจจุบันมีอุปกรณ์การตรวจที่เรียกว่า digital rhino-otoscope โดยใช้ rhino-otoscope ส่องในจมูกและต่อภาพขึ้นจอภาพ ซึ่งผู้ป่วยและแพทย์สามารถเห็นภาพภายในโพรงจมูกได้พร้อมๆกัน ซึ่งข้อดีคือ แพทย์สามารถอธิบายพยาธิสภาพในจมูกให้ผู้ป่วยรับทราบได้ชัดเจนขึ้น สามารถใช้ในการติดตามความผิดปกติในจมูกได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยในการวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนของโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เช่น โรคไซนัสอักเสบ หรือ หูชั้นกลางอักเสบได้
    สำหรับข้อจำกัดของการตรวจด้วย digital rhino-otoscope ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในเด็กเล็กมาก ไม่ยินยอมให้ตรวจอาจจะทำให้ภาพที่ออกมาไม่ชัดเจน แต่การตรวจไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายใดๆ ต่อผู้ป่วย
  1. การตรวจพิเศษจะช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคในรายที่มีประวัติ และการตรวจร่างกายยังสามารถเข้าได้กับโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในเด็กได้
  2. การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังจะช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้ป่วยแพ้ ทำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงได้ถูกต้อง และให้ข้อมูลในกรณีที่ต้องรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีฉีดวัคซีน ซึ่งการตรวจวิธีนี้เป็นวิธีที่มีความไวและความจำเพาะสูงสุดในการตรวจวินิจฉัยโรค แต่ข้อจำกัดของการตรวจวิธีนี้ คือผู้ป่วยจำเป็นต้องหยุดยาแก้แพ้ อย่างน้อย 3-7 วัน และอาจเกิดปฏิกิริยาอาการแพ้รุนแรงได้ น้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ที่นำมาทดสอบ ได้แก่น้ำยาสกัดจากไรฝุ่น แมลงสาบ ขนแมว ผิวหนังสุนัข เกสรหญ้า เป็นต้น
  3. วิธีสะกิด ใช้น้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้หยดลงบนผิวหนังที่แขน แล้วใช้เข็มสะกิดตรงกลางหยดน้ำยาเพื่อเปิดผิวหนังชั้นบนออก ถ้าผู้ป่วยมีปฏิกิริยาอักเสบจากภูมิแพ้ที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้นั้น ก็จะเกิดรอยนูน (wheal) ผื่นแดง (flare) และอาการคัน ซึ่งสามารถอ่านผลได้ในเวลา 15 นาที หลังการทดสอบ
  4. การหาปริมาณสารก่อภูมิแพ้ในเลือด ซึ่งตรวจเลือดแบบจำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด ซึ่งเป็นที่นิยมในต่างประเทศ เนื่องจากไม่เจ็บและไม่เสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้มาก ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องงดยาแก้แพ้ ไม่ต้องใช้เวลานานในการทดสอบทำให้สะดวก เพียงแค่เจาะเลือด 1 ครั้ง สามารถตรวจหาสารที่ผู้ป่วยแพ้ได้หลายชนิด แต่ในประเทศไทยไม่นิยมใช้ เนื่องจากมีราคาแพง

การรักษา

การรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในเด็ก ควรเริ่มตั้งแต่อธิบายให้ผู้ป่วยและคนในครอบครัวผู้ป่วย เข้าใจโรคนี้อย่างถูกต้อง ถ้าผู้ป่วยมีอาการของโรคหืดหรือโรคทางเดินหายใจส่วนล่าง ก็ควรให้การรักษาร่วมด้วย หลักการรักษามีอยู่ 3 ขั้นตอน คือ

  1. การหลีกเลี่ยง หรือกำจัดสิ่งที่แพ้ เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด โดยหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้และกำจัด หรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะในห้องนอนซึ่งผู้ป่วยต้องใช้เวลาอยู่ในห้องนี้ 8 ชั่วโมงต่อวัน แนะนำให้ผู้ป่วยและผู้ปกครองสังเกตว่า สารหรือภาวะแวดล้อมอะไรที่ทำให้อาการเป็นมากขึ้นเพื่อจะได้หลีกเลี่ยง
  1. การใช้ยาบรรเทาอาการ เช่น
    • การใช้น้ำเกลือล้างจมูก ซึ่งสามารถช่วยล้างน้ำมูก ล้างสารก่อภูมิแพ้ในเด็กที่เข้าไปในจมูก รวมทั้งสามารถช่วยลดอาการแน่นคัดจมูกได้อีกด้วย
    • ยาต้านฮีสตามีน ซึ่งจะได้ผลดีก็ต่อเมื่อให้ยา ก่อนที่จะสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ การใช้ยากลุ่มนี้ แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากและมีอาการเพียงครั้งคราว
    • ยาหดหลอดเลือด มีทั้งในรูปรับประทานและใช้เฉพาะที่ ทำให้หลอดเลือดหดตัวและเนื้อเยื่อในจมูกยุบบวม ทำให้อาการคัดจมูกน้อยลงแนะนำใช้เพียงครั้งคราวเช่นกัน
    • ยาสเตอรอยด์พ่นจมูก ซึ่งช่วยลดอาการคัน คัดจมูก น้ำมูกไหลได้ดี มักใช้ในรายที่มีอาการปานกลางถึงมาก หรือมีอาการต่อเนื่อง โดยเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มากที่สุด ดังนั้นจึงใช้ยานี้ในการรักษาและป้องกันอาการ การใช้ยาสเตอรอยด์เฉพาะที่ควรใช้ต่อเนื่องกันจึงจะได้ผลดี ในการคุมอาการของผู้ป่วย
  1. การฉีดวัคซีน (allergen immunotherapy) เป็นการฉีดสารก่อภูมิแพ้ ที่คิดว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเข้าไปในร่างกายทีละน้อย โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (subcutaneous) แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวนจนได้ขนาดสูงสุดที่ผู้ป่วยรับได้

ข้อบ่งชี้ในการพิจารณาให้การรักษาโดยวิธีนี้คือ

  • ผู้ป่วยแพ้สารก่อภูมิแพ้ที่ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้
  • ผู้ป่วยมีอาการมาก โดยมีอาการตลอดปีและเป็นมานานไม่ต่ำกว่า 1 – 2 ปี หรือมีอาการของโรคหืดร่วมด้วย
  • ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยาหรือไม่สามารถทนอาการข้างเคียงของยาเหล่านั้นได้

การฉีดวัคซีนนี้เป็นวิธีเดียวที่มีแนวโน้มว่าจะรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ให้หายได้ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเซลล์ระดับภูมิคุ้มกัน แต่การรักษาต้องใช้เวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 3-5 ปีทั้งนี้องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เริ่มฉีดวัคซีน ในระยะแรกของโรค เมื่อมีข้อบ่งชี้ เพื่อลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาและป้องกันไม่ให้อาการของโรคที่เป็นอยู่รุนแรง ป้องกันไม่ให้เกิดผลแทรกซ้อนจากโรคตามมา

การรักษาโดยการผ่าตัด

อาจจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดรักษาอาการบางอย่าง เช่น อาการคัดจมูก หรือน้ำมูกไหล ซึ่งให้การรักษาโดยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น

โรคที่พบร่วมกับโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในเด็ก

  1. หูชั้นกลางอักเสบและน้ำคั่งในหูชั้นกลาง คือการอักเสบของเยื่อบุในหูชั้นกลาง ในรายที่มีของเหลวขังอยู่ในหูชั้นกลางจะไม่มีอาการ และอาการแสดงของการอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักจะมีการได้ยินลดลง
  2. โรคหืด  พบว่าร้อยละ 60 – 78 ของผู้ป่วยโรคหืดจะมีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมด้วย และ ร้อยละ 20 – 30 ของผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในเด็ก เป็นโรคหืด โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการมาก หรือควบคุมไม่ได้ดีจะทำให้อาการหอบหืดแย่ลง ถ้ารักษาให้อาการทางจมูกดีขึ้น อาการหอบหืดก็จะดีขึ้นด้ว
  3. ไซนัสอักเสบและ / หรือริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุไซนัส เมื่อเยื่อบุจมูกบวมจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในเด็ก จะทำให้รูเปิดของไซนัสอุดตันและเกิดการคั่งของสารคัดหลั่งภายในไซนัส เกิดการบวมของเยื่อบุไซนัสติดเชื้อแบคทีเรียตามมา นอกจากนั้นการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุจมูก เป็นปัจจัยหนึ่งในการเกิดริดสีดวงจมูกซึ่งมักพบได้ในผู้ป่วยเด็กโตหรือผู้ใหญ่
  4. การกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ  ร้อยละ 40 –60 ของผู้ป่วยจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มีปัญหาคัดจมูก ซึ่งเกิดจากเยื่อบุจมูกบวมในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในเด็กมักมีปัญหาต่อมทอนซิล และอดีนอยด์โตร่วมด้วยซึ่งเป็นสาเหตุของการกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับที่พบได้บ่อย ภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียหรือง่วงซึมในเวลากลางวัน ในผู้ป่วยเด็กอาจทำให้ขาดสมาธิ ซนมากผิดปกติได้ ส่งผลให้การเรียนรู้และสมรรถภาพในการเรียนลดลง

สรุปการดูแลผู้ป่วยโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในเด็ก

  1. หาสิ่งที่แพ้หรือสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการ โดยการสังเกตหรือจดบันทึกไว้ว่า บุตรหลานของท่านมีอาการเมื่อทำอะไรอยู่หรืออยู่ในห้องใดบ้าง แล้วพยายามหลีกเลี่ยง ถือเป็นหลักสำคัญที่สุดสิ่งที่พบว่าเด็กมักจะแพ้ คือ ตัวไรฝุ่นในบ้าน ในห้องนอนหรือตุ๊กตาที่ใช้นุ่นหรือสำลี ฝุ่นบ้าน ซากแมลง เช่น ซากแมลงสาบ กลิ่นของสารเคมีหรือน้ำหอม ควันบุหรี่ เป็นต้น
  2. ควรจัดห้องนอนหรือห้องเล่นของเด็กให้สะอาด โดยจัดให้มีเครื่องมือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องนอนของเด็ก ไม่ควรใช้พรมปูพื้น หรือมีข้าวของรกรุงรังซึ่งอาจทำให้ก่อฝุ่น ควรทำความสะอาดพื้นห้องด้วยการถูด้วยน้ำทุกวัน หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องนอนที่ประกอบด้วยนุ่นหรือสำลี รวมทั้งการเล่นตุ๊กตาที่มีขนปกปุย ยัดไส้นุ่นหรือสำลีด้วย
  3. วิธีการกำจัดไรฝุ่นบ้าน เนื่องจากตัวไรฝุ่นในเครื่องนอนจะถูกทำลายด้วยความร้อนมากกว่า 60 องศาเซลเซียสดังนั้น เพื่อเป็นการลดการสัมผัสละอองตัวไรฝุ่น จึงควรทำความสะอาดผ้าปูเตียง, ปลอกหมอน และปลอกหมอนข้าง โดยการซักด้วยน้ำร้อน อุณหภูมิมากกว่า 60 องศา นานอย่างน้อย 30 นาที (กรณีใช้เครื่องซักผ้า) หรืออาจต้มผ้าคลุมเครื่องนอนเหล่านี้ อย่างน้อย 1-2 ครั้งต่ออาทิตย์ ในปัจจุบัน มีผู้ผลิตวัสดุหุ้มเครื่องนอน ผ้าคลุมกันไรฝุ่น ซึ่งสามารถช่วยลดการสัมผัสต่อสารก่อภูมิแพ้จากตัวไรฝุ่นได้ดี แต่ก็ยังไม่ได้เป็นการกำจัดตัวไรฝุ่นซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของโรค
  4. หลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่ เนื่องจากควันบุหรี่ อาจทำให้มีอาการน้ำมูกไหล จาม ตาแดง ไอ หรือมีอาการหอบหืดได้
  5. ควรส่งเสริมให้เด็กมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มีร่างกายแข็งแรงรวมทั้งควรระมัดระวังการติดเชื้อหวัดจากคนใกล้ชิดในบ้านหรือโรงเรียนด้วย
  6. ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด ไม่ควรงดการใช้ยาเอง เนื่องจากยาบางชนิดอาจใช้เวลาพอสมควรจึงจะเห็นผลในการรักษา การใช้ยาไม่ต่อเนื่องอาจทำให้อาการไม่ดีเท่าที่ควร
  7. ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อการดูแลรักษาภูมิแพ้ในเด็กอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-27340000 ต่อ 3310, 3312, 3319

  • Readers Rating
  • Rated 3.9 stars
    3.9 / 5 (16 )
  • Your Rating