บทความสุขภาพ

กระดูกเท้างอกเหตุเพราะเอ็นร้อยหวายอักเสบเรื้อรัง

Share:

เอ็นร้อยหวายอักเสบแล้วไม่รีบรักษาหรือพักการใช้งานเท้า จะทำให้อาการอักเสบเรื้อรังจนเกิดกระดูกงอกหลังส้นเท้า จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่อาจกลับไปเล่นกีฬาได้เหมือนเดิม 

เอ็นร้อยหวายเป็นเส้นเอ็นใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่เชื่อมต่อกล้ามเนื้อน่องกับส้นเท้าเพื่อให้การเดิน วิ่งและกระโดดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หากเส้นเอ็นเสื่อมสภาพหรือตึงเกินไปอาจทำให้เอ็นร้อยหวายอักเสบได้ง่าย ซึ่งสาเหตุมักเกิดจากการใช้งานซ้ำ ๆ จากการออกกำลังกาย การเล่นกีฬาที่ต้องเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็วหรือหยุดกะทันหัน การเดินมากและเร็วเกินไป การกระโดดซ้ำ ๆ หรือแม้แต่การเขย่งอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ การใส่รองเท้าที่ไม่พอดีกับเท้าหรือใส่รองเท้าที่พื้นรองเท้าชำรุด ตลอดจนความเสื่อมจากอายุที่มากขึ้นและภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งจะทำให้เกิดแรงดึงซ้ำ ๆ บริเวณเอ็นหรือกระดูกหลังส้นเท้าซึ่งเป็นที่เกาะของเอ็น จนเอ็นร้อยหวายอักเสบในที่สุด 

เมื่อเอ็นร้อยหวายอักเสบผู้ป่วยจะรู้สึกปวดข้อเท้าและปวดรุนแรงขึ้นหลังออกกำลังกายหรือเดิน บวมแดงบริเวณเหนือส้นเท้า กดหรือขยับแล้วรู้สึกเจ็บส้นเท้า รู้สึกอุ่นที่ส้นเท้าและกล้ามเนื้อน่องตึง หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบพักการใช้งานเท้าและขา พร้อมกับประคบเย็นบ่อย ๆ เพื่อให้อาการปวดบวมลดลง และควรรอให้อาการปวดบวมหายแบบ 100% ก่อนจะกลับไปใช้งานเท้าหนัก ๆ หรือออกกำลังกาย เพราะถ้ายังไม่หายดีจะทำให้การอักเสบสะสมและเรื้อรังจนอาการรุนแรงขึ้น 

“ถ้าปล่อยไว้จนเอ็นร้อยหวายอักเสบเรื้อรังจะเกิดหินปูนเกาะที่กระดูกเท้า หรือที่เรียกว่ากระดูกงอกจากเอ็นร้อยหวายอักเสบ ในระยะแรกอาจจะไม่แสดงอาการอะไรเลย แต่ผู้ป่วยจะรับรู้ได้เมื่อกระดูกงอกจนกดทับเส้นประสาท จนทำให้มีอาการปวดเท้าเรื้อรังหรือในผู้ป่วยบางรายก็ไม่สามารถกลับไปเล่นกีฬาได้เหมือนเดิม เนื่องจากจะมีอาการกดเจ็บ บวมที่ข้อเท้าด้านหลัง คลำเจอกระดูกงอกและเสียดสีกับขอบรองเท้า หรือเสียดสีกับเส้นเอ็นจนทำให้เอ็นเสียหายมากขึ้น”

หากมีกระดูกงอกจากเอ็นร้อยหวายอักเสบจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างมาก โดยเฉพาะอาการเจ็บปวดที่สร้างความทรมานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจะรักษาให้หายขาดจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดกระดูกที่งอกออก พร้อมกับซ่อมแซมเอ็นร้อยหวายที่เสียหาย โดยแพทย์จะเปิดแผลผ่าตัดประมาณ 3 – 4 เซนติเมตร พักฟื้นแผลหลังผ่าตัดประมาณ 6 สัปดาห์ ก็สามารถกลับมาทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และกลับไปเล่นกีฬาได้ภายใน 4 – 5 เดือนหลังผ่าตัด

สำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกงอกจากเอ็นร้อยหวายอักเสบ นายแพทย์กฤษฏิ์แนะนำว่าต้องเริ่มตั้งแต่การดูแลเอ็นร้อยหวายไม่ให้บาดเจ็บหรืออักเสบ ด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อขาและเส้นเอ็นทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการกระโดดหรือเขย่งซ้ำ ๆ ใส่รองเท้าที่พอดีเท้า พื้นรองเท้าไม่แข็ง หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง นอกจากนี้ ยังควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อไม่ให้เท้าและเส้นเอ็นแบกรับน้ำหนักมากเกินไป ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะเอ็นร้อยหวายเสื่อมก่อนวัยอันควรได้อีกด้วย

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์กระดูกและข้อ
โทร. 02-734-0000 ต่อ 2298

  • Readers Rating
  • Rated 4.3 stars
    4.3 / 5 (6 )
  • Your Rating