บทความสุขภาพ

ผ่าตัดไทรอยด์ไร้แผล ยกระดับคุณภาพชีวิตหลังการรักษา

Share:

ไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ช่วยควบคุมระบบเผาผลาญ อุณหภูมิร่างกาย การเจริญเติบโต และพัฒนาการของสมอง เมื่อเกิด ความผิดปกติ เช่น มีก้อน หรือต่อมไทรอยด์โต มีการกดเบียดหลอดลมหรือหลอดอาหาร มีความเสี่ยงของการเกิด มะเร็ง แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด

การผ่าตัดไทรอยด์แต่เดิมนั้น มักจะมีแผลเป็นขนาดใหญ่และเด่นชัดบริเวณลำคอ ทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจในด้านภาพลักษณ์หลังการผ่าตัด ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดแบบไร้แผล (Scarless Thyroidectomy) เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยหลังผ่าตัด เนื่องจากไม่มีรอยแผลเป็นภายนอกให้กังวลใจแต่อย่างใด

วิธีการผ่าตัดไทรอยด์ แบ่งเป็น 1.การผ่าตัดแบบเปิด (Conventional Surgery) แพทย์จะลงแผลแนวขวางบริเวณลำคอ เพื่อเปิดชั้นกล้ามเนื้อ สามารถเห็นความผิดปกติได้ชัดเจน และตัดก้อนไทรอยด์ขนาดใหญ่ออกได้หมด แต่หลังผ่าตัดผู้ป่วยมักมีแผลเป็นขนาดใหญ่และเด่นชัดบริเวณลำคอ 2.การผ่าตัดแบบส่องกล้องแบบไร้แผลเป็น (Scarless Thyroidectomy) พัฒนามาจากเทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimal Invasive Surgery) และการผ่าตัดผ่านช่องทางธรรมชาติ (Natural Orifices Transluminal Endoscopic Surgery) เริ่มจากการผ่าตัดส่องกล้องผ่านแผลที่รักแร้ ซึ่งให้แผลเป็นขนาดเล็กและอยู่ในร่มผ้า กระทั่งปัจจุบันสามารถพัฒนาต่อยอดจนสามารถผ่าตัดผ่านทางช่องปากโดยใช้กล้อง ซึ่งจะไม่ทิ้งรอยแผลใดๆ ไว้ภายนอกร่างกาย ผู้ป่วยจึงไม่มีแผลเป็นภายนอกหลังการผ่าตัด

ข้อดีของการผ่าตัดไทรอยด์ไร้แผล 1.ไม่มีแผลเป็นบริเวณลำคอ 2.ผ่าตัดผ่านกล้องด้วยเทคโนโลยีภาพ 4K ทำให้เห็นอวัยวะสำคัญได้ชัดเจนระหว่างผ่าตัด 3.แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก บาดเจ็บน้อย ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวได้เร็ว ทั้งนี้ การเตรียมตัวในการผ่าตัดไทรอยด์ด้วยเทคนิคไร้แผล ต้องควบคุมการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ให้อยู่ในระดับปกติก่อนการผ่าตัด งดน้ำและอาหาร อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด การผ่าตัดจำเป็นต้องดมยาสลบและใส่ท่อช่วยหายใจ

ต่อมไทรอยด์ เป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญของร่างกาย หากเกิดความผิดปกติอาจกระทบต่อการทำงานของร่างกายเกือบทุกส่วน หากคลำพบ ก้อนบริเวณลำคอ จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทาง ทั้งอายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อและศัลยแพทย์ ซึ่งในปัจจุบัน เทคนิคการผ่าตัดรวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีการพัฒนาค่อนข้างมาก ทำให้การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลใจดังเช่นในอดีตอีกต่อไป

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป
โทร. 02-734-0000 ต่อ 4500, 4501

  • Readers Rating
  • Rated 4.4 stars
    4.4 / 5 (8 )
  • Your Rating