บทความสุขภาพ

ไทรอยด์…ปล่อยไว้อาจหัวใจวาย อันตรายถึงชีวิต

Share:

ระบบเผาผลาญผิดปกติ อารมณ์แปรปรวน ผมร่วง สัญญาณเบื้องต้นของโรคไทรอยด์ ต้องรีบรักษาก่อนลุกลามและเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่บริเวณส่วนหน้าของลำคอหรือใต้ลูกกระเดือก ลักษณะแบนคล้ายปีกผีเสื้อ ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กับการทำงานของสมอง ระบบประสาท ระบบเผาผลาญ การควบคุมอุณหภูมิร่างกายและอารมณ์ นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการทำงานของหัวใจ กระดูก และกล้ามเนื้อด้วย

นายแพทย์อรุณ คงชู อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า ฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือไฮเปอร์ไทรอยด์หรือไทรอยด์เป็นพิษ เกิดการที่ฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไปจนไปกระตุ้นระบบต่าง ๆ ให้เกิดความผิดปกติ เช่น กระตุ้นระบบเผาผลาญ เหงื่อออกมาก หงุดหงิดง่าย น้ำหนักลด อาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจวายและเสียชีวิตได้ ส่วนอีกชนิดคือไฮโปไทรอยด์หรือไทรอยด์ต่ำ เกิดจากการที่ไทรอยด์ผลิตน้อยเกินไป เช่น ไทรอยด์อักเสบฮาชิโมโต (Hashimoto’s Thyroiditis) ที่ผลิตแอนติบอดี้มาทำลายเนื้อเยื่อของตัวเองและทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาได้ไม่เพียงพอ ซึ่งอาการจะตรงข้ามกับไฮโปไทรอยด์คือไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง หนาวง่าย ง่วงนอนบ่อย อ้วนง่าย ผมร่วง

“โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อีกทั้งยังพบได้ตั้งแต่วัยเด็กไปถึงสูงอายุ พบมากสุดในช่วงอายุ 30 – 60 ปี โดยแพทย์จะใช้วิธีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยและรักษาด้วยการให้ยารับประทาน แต่ในส่วนของไฮเปอร์ไทรอยด์แพทย์อาจเพิ่มการรักษาด้วยการกลืนแร่รังสีเพื่อให้ต่อมไทรอยด์ยุบลงถาวรในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อยาหรือแพ้ยา ส่วนโรคอีกแบบของต่อมไทรอยด์คือมีขนาดผิดปกติ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีขนาดโต คนทั่วไปมักเรียกว่าคอพอกหรือต่อมไทรอยด์บวม ถ้าโตในลักษณะก้อนเนื้อหรือถุงน้ำและเคลื่อนไหวตามการกลืนจะเรียกว่าก้อนต่อมไทรอยด์หรือเนื้องอกต่อมไทรอยด์ โดยมีโอกาสเป็นเนื้อร้ายร้อยละ 4-5 ซึ่งแพทย์อาจจะรักษาด้วยการผ่าตัด โดยมีทั้งวิธีเปิดแผลบริเวณลำคอ การผ่าตัดแบบส่องกล้องเพื่อลดขนาดแผล และการผ่าตัดผ่านช่องปากเพื่อไม่ให้เกิดแผลบนผิวหนัง แต่ถ้าไม่ใช่เนื้อร้ายอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ขึ้นอยู่กับอาการและขนาดในการพิจารณาของแพทย์” นายแพทย์อรุณกล่าว

สำหรับการสังเกตตัวเองว่าฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติหรือไม่ ในกรณีที่แสดงอาการชัดเจนผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนแรง เหนื่อยง่าย ใจสั่น อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ เหงื่อออกมาก ผมร่วง เล็บกร่อน หิวบ่อย ขับถ่ายผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักตัวลดหรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประจำเดือนผิดปกติ เป็นต้น ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจแสดงอาการไม่ชัดเจน แต่สามารถตรวจพบความผิดปกติได้จากการตรวจเลือดหรือตรวจสุขภาพประจำปี หากพบโรคควรรีบปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางเพื่อพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อโทร. 02-734-0000 ต่อ 1071 , 1072

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (4 )
  • Your Rating