บทความสุขภาพ

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะรักษาได้ อย่าปล่อยไว้เพราะอาจอันตรายถึงชีวิต

Share:

เหนื่อยง่าย ใจสั่น สัญญาณโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

เคยมีอาการเหล่านี้บ้างไหม? ‘เหนื่อยง่าย ใจสั่น วูบ หน้ามืด หมดสติบ่อย’ นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งหลายครั้งที่ผู้ป่วยมีอาการแสดงแต่ไม่รีบพบแพทย์ กว่าจะรู้ตัวอีกทีอาการก็รุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ แล้ว

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้าและภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็ว ซึ่งการที่ผู้ป่วยพบแพทย์เฉพาะทางเร็ว จะทำให้แพทย์วินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้ทันท่วงที อีกทั้งการค้นพบโรคเร็วตั้งแต่ระยะแรกจะช่วยลดความซับซ้อนในกระบวนการรักษาได้ ซึ่งวิธีรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดของความผิดปกติและความรุนแรงของโรค ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker) เพื่อปรับการเต้นของหัวใจ การฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (AICD) การสวนและจี้ด้วยคลื่นวิทยุไฟฟ้าหัวใจ

กลุ่มเสี่ยงโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ลิ้นหัวใจรั่ว ความผิดปกติของร่างกายที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ความเครียด รวมถึงการรับประทานยาหรือได้รับสารบางชนิด เช่น ยาแอมเฟตามีน กาเฟอีน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามผู้ที่ไม่เคยมีอาการของโรคหัวใจก็อาจจะมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ฉะนั้นถ้ามีอาการผิดปกติสงสัยว่าเป็นโรคหัวใจไม่ว่าจะเป็น อาการใจสั่น หัวใจเต้นรัว หรือมีอาการคล้ายหน้ามืดจะเป็นลม ควรรีบเข้ารับคำปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยโรคเพิ่มเติม และหากมีอาการ จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที

การวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะแพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram : EKG) ตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดพกพา 24 ชั่วโมง (24 hour Holter Monitoring) หรืออาจต้องตรวจสรีระไฟฟ้าหัวใจด้วยการสวนหัวใจ (Electrophysiologic study) โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินวิธีการตรวจที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

สำหรับการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์อาจพิจารณาการรับประทานยาเพื่อควบคุมอาการ ซึ่งต้องรับประทานไปตลอดชีวิต การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker) เพื่อปรับการเต้นของหัวใจ การฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (AICD) นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีรักษาโดยการสวนและจี้ด้วยคลื่นวิทยุไฟฟ้าหัวใจตรงจุดที่มีปัญหา เป็นการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องใช้ยาสลบ และนอนโรงพยาบาลเพียงหนึ่งคืนก็สามารถกลับบ้านได้

เทคโนโลยีการสวนและจี้ด้วยคลื่นวิทยุไฟฟ้าหัวใจ แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

  • Electrophysiology Study หรือการตรวจวินิจฉัยทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ แสดงผลเป็นกราฟ 2 มิติ ตรวจประเมินสัญญาณไฟฟ้าหัวใจและทางเดินไฟฟ้าหัวใจ เพื่อค้นหาสาเหตุรวมทั้งตำแหน่งที่ผิดปกติ และจี้ด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง สามารถให้การรักษาต่อเนื่องทันทีหลังการตรวจวินิจฉัยทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
  • 3D System เป็นการค้นหาตำแหน่งจุดกำเนิดไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ แสดงผลเป็นภาพ 3 มิติแบบเรียลไทม์ และใช้สายสวนจี้ตรงจุดที่ผิดปกติด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง สามารถใช้รักษาความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจที่มีจุดกำเนิดเป็นบริเวณกว้างหรือซับซ้อนได้ เช่น
    • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะห้องบน (Atrial Tachycardia)
    • ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation)
    • ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็ว (Ventricular Tachycardia)
    • ภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วชนิดลัดวงจร (Supraventricular Tachycardia)

         การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยเทคโนโลยีการสวนและจี้ด้วยคลื่นวิทยุไฟฟ้าหัวใจ ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดสูงถึงร้อยละ 95 – 98 และผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิต ทั้งนี้ การรักษาต้องขึ้นอยู่กับอาการ ชนิดของโรค และการประเมินของแพทย์เฉพาะทาง

วิธีการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นอาหารไขมันต่ำ รำข้าว และผักผลไม้ รวมถึงออกกำลังกาตามความเหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอิน เช่น ชา กาแฟ ตลอดจนยากระตุ้นบางชนิดเพราะอาจมีผลต่อการเต้นของหัวใจ หรือหากจำเป็นต้องรับประทานยาอื่น ๆ หรือวิตามินเสริมควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายและอาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

แม้ว่าโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่ถ้ารู้เร็วและเข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางอย่างทันท่วงที ก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคหรือมีโอกาสหายขาดได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานีหรือโทร. 0-2734-0000 ต่อ 5300

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (3 )
  • Your Rating