บทความสุขภาพ

ดูแลสุขภาพอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคหัวใจ

Share:

รู้หรือไม่ว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก จากสถิติขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า ในปี 2563 มีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดประมาณ 17.9 ล้านคน ซึ่งถือเป็น 0.23% ของจำนวนประชากรทั่วโลก
ในปัจจุบัน มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคหัวใจซึ่งหลายคนไม่ได้ใส่ใจในเรื่องของการดูแลสุขภาพ อีกทั้งสาเหตุหลัก ๆ ของผู้ป่วยโรคหัวใจในไทยนั้นมักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารรสจัด มีคอเลสเตอรอลสูง รวมทั้งความเครียด นอกจากนี้ โรคประจำตัวบางอย่างก็ส่งผลต่อโรคหัวใจด้วยเช่นกัน

พฤติกรรมเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

หัวใจ เป็นอวัยวะภายที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา โดยมีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งมีออกซิเจนเป็นตัวกลางสำคัญเพื่อให้หัวใจสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจัยที่ทำให้หัวใจไม่แข็งแรง ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและเมื่อมีอายุมากขึ้น ก็จะมีการเสื่อมสภาพของระบบอวัยวะต่างๆ รวมถึงหัวใจและหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจตามมา

อาการแบบไหนที่เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ

หลายคนอาจมองข้ามสัญญาณเตือนจากโรคหัวใจเพราะบางครั้งอาจคิดว่าเป็นเพียงแค่อาการทั่วไป แต่จริง ๆ แล้วอาจเป็นอาการจากโรคหัวใจที่แสดงตัวมากขึ้น โดยสามารถสังเกตได้จากอาการเหล่านี้
● เหนื่อยง่ายกว่าปกติ: หลายครั้งที่เหนื่อยง่าย หอบหายใจลำบาก หลายคนอาจคิดว่าเป็นเพราะออกแรงมากเกินไปหรืออยู่ระหว่างการออกกำลังกายโดยจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะแล้วหายไปเองแต่บางครั้งอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในขณะนอนหลับด้วย
● เจ็บแน่นหน้าอก: ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บหน้าอกด้านซ้ายหรือทั้งสองด้าน เวลานอนราบอาจจะรู้สึกเหนื่อยหรือมีอาการอึดอัดบริเวณหน้าอก
● เป็นลมหมดสติโดยไม่มีสาเหตุ
● ขาหรือเท้าบวมโดยไม่มีสาเหตุ: นอกจากอาการขาหรือเท้าบวมแล้ว ยังรวมไปถึงปลายมือ ปลายเท้า และริมฝีปาก มีลักษณะเขียวคล้ำซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจลดลง เพราะเลือดไหลขึ้นจากขาไปยังหัวใจได้ไม่สะดวก จนทำให้เลือดคั่งที่ขา

ความรุนแรงของโรคหัวใจและหลอดเลือด

สำหรับความรุนแรงของโรคหัวใจและหลอดเลือดจะสอดคล้องกับอายุ ความรุนแรงของโรคหัวใจที่เป็นและโรคร่วมที่มีอยู่ ในบางรายอาจนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างกระทันหัน หรือป่วยหนักถึงขั้นวิกฤตได้

ดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคหัวใจ

การดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคหัวใจและหลอดเลือด จำเป็นต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ผ่อนคลายความเครียด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
● การรับประทานอาหาร: เน้นอาหารที่มีประโยชน์ต่อหัวใจและร่างกาย ลดอาหารไขมันสูงรสจัด และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของกรดไขมันที่อิ่มตัวเช่น จากไขมันปาล์ม พร้อมกับรับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ ธัญพืชไม่ขัดสี โปรตีนไขมันต่ำ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อไม่ติดมันหรือเนื้อปลา
● ลดการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
● ควบคุมน้ำหนักและโรคประจำตัว: ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพราะการที่น้ำหนักตัวเกินอาจเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ หรือเกิดโรคเรื้อรังจนทำให้เกิดโรคหัวใจอีกทั้งยังจำเป็นต้องควบคุมความดันโลหิตสูงให้ดี เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
● ผ่อนคลายความเครียด: ความเครียดส่งผลต่อสุขภาพได้อย่างชัดเจน เช่น อาจทำให้ความดันโลหิตสูงระดับฮอร์โมนความเครียดเพิ่มขึ้นจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
● ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ: การออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงโรคอื่น ๆเนื่องจากการออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ทำให้หัวใจแข็งแรง ทำงานได้ดี

ตรวจสุขภาพประจำปีและตรวจสุขภาพหัวใจเพื่อคัดกรองความเสี่ยง

การตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยคัดกรองปัญหาสุขภาพ ก่อนที่จะก่อโรคหรือสามารถพบโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งจะทำให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวัดความดันโลหิต การตรวจคอเลสเตอรอล ระดับไขมันในเลือด เป็นต้น
หากใครกังวลหรือคิดว่ามีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถตรวจคัดกรองด้วยการตรวจเอกซเรย์ทรวงอกและคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย ตลอดจนการตรวจหาแคลเซียมหินปูนที่ผนังหลอดเลือดหัวใจและตรวจหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยเทคนิคการทำ CT Scan เป็นต้น

ที่ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานีเรามีทีมแพทย์เฉพาะทางให้การตรวจและรักษาโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี หรือโทร. 0-2734-0000 ต่อ 5300

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (2 )
  • Your Rating