บทความสุขภาพ

เข้าใจใหม่ ! ติดเชื้อ HIV ไม่ได้แปลว่าเป็นเอดส์

Share:

HIV (Human Immunodeficiency Virus) เป็นเชื้อไวรัสที่จะทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคและเชื้อไวรัสต่าง ๆ เมื่อเซลล์ CD4 ถูกทำลายจนอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะถูกเชื้อไวรัสเอชไอวีโจมตีจนไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้และก่อให้เกิดโรคเอดส์ในที่สุด แต่ผู้ป่วยบางรายที่ติดเชื้อเอชไอวีมานานหลายปีอาจไม่มีอาการของโรคเอดส์เลย ในขณะที่บางรายอาจพัฒนาเป็นโรคเอดส์อย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยจากโภชนาการที่ไม่ดี อายุมากขึ้น กรรมพันธุ์ หรือติดเชื้อร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น วัณโรค ตับอักเสบซี เป็นต้น

สาเหตุการติดเชื้อเอชไอวีที่พบบ่อยที่สุด คือ ติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ส่งผ่านจากแม่สู่ลูกระหว่างการตั้งครรภ์ สัมผัสเลือด น้ำอสุจิ ของเหลวจากช่องคลอดของผู้ติดเชื้อ หรือแม้แต่น้ำนมแม่ก็สามารถแพร่เชื้อเอชไอวีได้เช่นกัน

อาการหลังติดเชื้อเอชไอวี แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

  • ระยะเฉียบพลัน คือระยะที่รับเชื้อมาแล้ว 2 – 4 สัปดาห์ โดยเชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจนเซลล์ CD4 ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ ไม่ว่าจะมีไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ มีผื่น หรือต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งในระยะเฉียบพลันนี้มีความเสี่ยงสูงในการแพร่เชื้อไวรัสไปยังผู้อื่น
  • ระยะสงบทางคลินิก จะไม่แสดงอาการอะไรเลยหรืออาจแสดงอาการเหมือนกับระยะเฉียบพลัน แต่จะเป็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยระยะนี้เชื้อไวรัสจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นและทำลายภูมิคุ้มกัน (CD4) ทำให้ภูมิคุ้มกันค่อยๆ ลดลง อาจอยู่ในระยะนี้นานถึง 10 ปี
  • ระยะโรคเอดส์ เป็นระยะที่ภูมิคุ้มกันถูกทำลายอย่างรุนแรง ปริมาณเซลล์ CD4 ต่ำกว่า 200 จากที่คนปกติจะมี 500 – 1,600 ทำให้ผู้ป่วยในระยะนี้ติดเชื้อชนิดอื่นได้ง่าย โดยผู้ป่วยเอดส์จะมีอาการปอดอักเสบ เหนื่อยหอบง่าย น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ท้องเสียเรื้อรัง เป็นไข้ซ้ำ ๆ เหงื่อออกตอนกลางคืน เกิดผื่นคันตามผิวหนังเกิดฝ้าขาวในช่องปาก ต่อมน้ำเหลืองที่คอ รักแร้และขาหนีบบวมโต ติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น วัณโรค เชื้อราในปอด(PCP) เชื้อราในเยื่อหุ้มสมอง 

การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี แพทย์จะใช้ยาต้านรีโทรไวรัส หรือ ARV ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งและต้านการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาว อีกทั้งยังลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายสู่ผู้อื่นด้วย การทานยาเร็วทำให้โรคไม่พัฒนาไปสู่ขั้นเอดส์ และยังช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกายและโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อ HIV เช่น มะเร็งบางชนิด

ดังนั้น หากกังวลว่าตัวเองอาจได้รับเชื้อเอชไอวี ควรรีบตรวจเลือดหาเชื้อและรับประทานยา ARV สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ HIV เช่น มีเพศสัมพันธ์ โดยไม่ได้ป้องกันภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV สูง ก็สามารถรับประทานยา ARV เพื่อป้องกันการติดเชื้อได้ ในระยะช่วงที่มีความเสี่ยงโดยเรียกว่า PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะรับประทานยาป้องกัน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลเวชธานี

โทร. 02-734-0000 ต่อ 2200

  • Readers Rating
  • Rated 3.2 stars
    3.2 / 5 (27 )
  • Your Rating