บทความสุขภาพ

สูงวัยล้ม เจ็บสะโพก ต้องสังเกต 5 อาการเสี่ยง

Share:

ผู้สูงวัยส่วนใหญ่มักประสบกับภาวะกระดูกพรุนและมวลกล้ามเนื้อลดลง ประกอบกับการทรงตัวที่ไม่คล่องแคล่วกระฉับกระเฉงเท่าวัยหนุ่มสาวและปัญหาการมองเห็นที่ไม่ชัดเจน จึงมักเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับการหกล้มจนทำให้กระดูกแตกหักได้ง่าย โดยเฉพาะกระดูกบริเวณสะโพก เนื่องจากเป็นบริเวณหลักในการรับแรงกระแทก เมื่อหกล้มอาจเกิดอาการเจ็บบริเวณสะโพกจนทำให้รู้สึกทรมานและเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวยิ่งกว่าเดิม

เมื่อผู้สูงอายุล้มแล้วเกิดอาการเจ็บสะโพกเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจตามมาด้วยอาการกระดูกสะโพกหักจนทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อีกเลย รวมไปถึงอาการแทรกซ้อนที่ตามมาอีกมากมายที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นจึงต้องสังเกตุ 5 อาการเสี่ยงต่อไปนี้ เพื่อเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงทีก่อนสายเกินไป


สังเกต 5 อาการเสี่ยงกระดูกสะโพกหัก

  • หลังหกล้มรู้สึกเจ็บบริเวณสะโพกมากจนขยับไม่ไหว
  • ลงน้ำหนักหรือลุกยืนไม่ได้
  • ช่วงปลายเท้าเย็น เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงได้น้อยลง
  • มีรอยฟกช้ำ บวม และรู้สึกขัดบริเวณสะโพก
  • สะโพกผิดรูป

หากหกล้มแล้วผู้ป่วยไม่สามารถลุกขึ้นยืนได้ด้วยตัวเองหรือไม่สามารถขยับร่างกายได้ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจมีความเสี่ยงกระดูกสะโพกหัก และไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเอง แต่ควรติดต่อรถพยาบาลทันทีเพื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างถูกวิธีและเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว


กระดูกสะโพกหัก จำเป็นต้องผ่าตัดอย่างเร่งด่วน

อาการกระดูกสะโพกหักไม่ได้ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น หากสังเกตว่าผู้สูงอายุอาจมีอาการกระดูกสะโพกหัก จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดโดยเร็วที่สุดหรือภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ภาวะติดเตียง แผลกดทับ ลิ่มเลือดอุดตันในกระแสเลือด กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ปอดบวม และติดเชื้อ ซึ่งอาการทั้งหมดนี้อาจรุนแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคหัวใจและเบาหวาน จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนที่มากขึ้นหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที


การดูแลหลังผ่าตัดกระดูกสะโพก

หลังเข้ารับการผ่าตัดสะโพกหักแล้ว สิ่งสำคัญคือการทำกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ เพราะจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วขึ้น ทำให้สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด เช่น การออกกำลังกายเฉพาะส่วน โดยหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะลุกยืนหรือลงน้ำหนักได้ตั้งแต่ 6 – 12 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด และเดินได้ตามปกติภายใน 12 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของผู้ป่วยแต่ละคน เมื่อร่างกายแข็งแรงขึ้นหรือสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว สิ่งสำคัญคือการดูแลรักษาภาวะกระดูกพรุนและเคลื่อนไหวด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดการหกล้มจนทำให้บาดเจ็บที่สะโพกอีกในอนาคต


ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์ฟื้นฟูข้อเสื่อม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734 – 0000 ต่อ 2222

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (5 )
  • Your Rating