บทความสุขภาพ

ผ่าตัดเทคนิคใหม่ รักษา กระดูกสันหลังคด ในเด็ก ไม่กระทบการเจริญเติบโต

Share:

ปัญหา กระดูกสันหลังคด ในเด็กผ่าตัดแก้ไขได้ด้วยเทคนิคใหม่ AVBT เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว กลับไปเล่นกีฬาได้ภายใน 6 – 8 สัปดาห์ ไม่กระทบต่อการเจริญเติบโตเหมือนการผ่าตัดแบบเดิม 

กระดูกสันหลังคด เป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะกระดูกสันหลังคดชนิดไม่ทราบสาเหตุ เป็นภาวะที่พบได้มากถึงร้อยละ 80 ของผู้ป่วยกระดูกสันหลังคดทั้งหมด ส่วนอีกร้อยละ 20 มีสาเหตุจากโรคบางอย่าง เช่น การถ่ายทอดทางพันธุกรรมของโรคบางชนิด, โรคความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อ เป็นต้น 

นายแพทย์ทินกร ปลื้มวิทยาภรณ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า ภาวะกระดูกสันหลังคดชนิดไม่ทราบสาเหตุพบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่น (อายุ 10 – 18 ปี) โดยจะพบมากที่สุดในช่วงอายุุ 13 – 15 ปี และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในอัตราส่วน 10 ต่อ 1 ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากที่มาพบแพทย์มักมีลักษณะไหล่หรือสะโพกทั้ง 2 ข้าง ไม่เท่ากัน มีเพียงส่วนน้อยที่พบว่ามีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการปวดหลังเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีความผิดปกติทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ส่วนการรักษาผู้ป่วยกระดูกสันหลังคดชนิดไม่ทราบสาเหตุ ในกรณีที่คดไม่มากแพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการและส่งตรวจภาพถ่ายทางรังสีวิทยา, ใส่เสื้อเกราะพยุงหลังเพื่อป้องกันการคดผิดรูปมากขึ้น หากติดตามอาการแล้วพบว่าผู้ป่วยมีภาวะกระดูกสันหลังที่คดมากขึ้น แพทย์จะทำการผ่าตัดแก้ไขเพื่อให้กระดูกสันหลังตรงขึ้น

“การผ่าตัดรักษาโรคกระดูกสันหลังคด ส่วนมากยังเป็นการผ่าตัดใส่เหล็กยึดตรึงกระดูกร่วมกับเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลังในตำแหน่งเดียวกับที่มีการใส่เหล็กยึดตรึง เพื่อให้กระดูกสันหลังตรงและลดการผิดรูป แต่วิธีนี้มีข้อเสียตรงที่จะไปลดความสามารถในการเคลื่อนที่ของข้อต่อกระดูกสันหลัง และมีแผลผ่าตัดเป็นแนวยาวกลางแผ่นหลัง” นายแพทย์ทินกรกล่าว

แต่ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นวิธีการผ่าตัดแบบใหม่ โดยเป็นการผ่าตัดแก้ไขกระดูกสันหลังคดแบบไม่เชื่อมข้อ หรือ Anterior Vertebral Body Tethering Procedure (AVBT) โดยวิธีนี้จะอาศัยหลักการ growth modulation technique คือการให้โครงสร้างกระดูกสันหลังของผู้ป่วยยังสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ตามแนวที่กำหนด และไม่เกิดภาวะกระดูกสันหลังคดเพิ่มขึ้น ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่องมือผ่าตัดที่เรียกว่า Strong flexible cable/polymer (Polyethylene-terephthalate) ช่วยปรับความคดของกระดูกสันหลังให้กลับมาเข้ารูป ในขณะที่ร่างกายยังสามารถก้มขยับได้ตามปกติ ไม่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนที่ของกระดูกสันหลังเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเดิม อีกทั้งยังไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว ซึ่งมีความสำคัญต่อการใช้งานและการทรงตัวของร่างกาย เพราะเป็นการผ่าตัดทางด้านข้างลำตัวของผู้ป่วย โดยสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (mini-thoracotomy approach) หรือผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางช่องอก (thoracoscopic approach) ทำให้ลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อและชั้นกล้ามเนื้อแผ่นหลัง ลดระยะเวลาการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ตลอดจนช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วและสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติดได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้หลังจากผ่าตัดภายใน 6 – 8 สัปดาห์

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 5500

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (11 )
  • Your Rating