ผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช ทางเลือก “ไร้รอยแผล” เมื่อจำเป็นต้องตัดมดลูก
ผู้หญิงจำนวนไม่น้อย ประสบปัญหาทางนรีเวช โดยโรคบางโรคหรือภาวะบางประการ อาจไม่สามารถเยียวยารักษาได้ด้วยการรับประทานยา หรือผ่าตัดเฉพาะเนื้องอก แต่จำเป็นต้องผ่าตัดนำมดลูกออก ซึ่งการผ่าตัดนำมดลูกออกแต่เดิมนั้นจะทิ้งรอยแผลขนาดใหญ่ อีกทั้งยังใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นนาน แต่ปัจจุบันมีเทคนิค “ผ่าตัดส่องกล้องแบบไร้แผล” ไม่ก่อให้เกิดรอยแผลขนาดใหญ่ บาดเจ็บน้อย จึงช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่ผ่านมา
โรคหรือภาวะอะไรบ้าง ที่จำเป็นต้องผ่าตัดนำมดลูกออก?
- เนื้องอกมดลูก
- เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมดลูก
- ภาวะมดลูกหย่อน
- ประจำเดือนผิดปกติที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา
- เยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติ
- ภาวะก่อนเป็นมะเร็งของปากมดลูก
- มะเร็งที่ปากมดลูก มดลูก หรือรังไข่
แม้ว่าโรคหรือภาวะต่าง ๆ เหล่านี้ จะมีวิธีการรักษาหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยา การผ่าตัดเฉพาะเนื้องอก ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ แต่เมื่อแพทย์แนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดนำมดลูกออกแล้ว สิ่งที่ผู้ป่วยจะต้องตัดสินใจต่อจากนี้ คือวิธีที่ใช้ในการผ่าตัด โดยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีเทคนิคการผ่าตัดค่อนข้างหลากหลาย และมีการพัฒนาเพื่อให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลต่อผู้ป่วยอย่างสูงสุด
‘4 เทคนิค’ ในการผ่าตัดนำมดลูกออก
- การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง เป็นวิธีการผ่าตัดที่ใช้มานาน แพทย์จะเปิดแผลที่หน้าท้องยาวประมาณ 10 ซม. เพื่อเอามดลูกหรือเนื้องอกออก เนื่องจากแผลมีขนาดใหญ่ การเจ็บแผลหลังผ่าตัดจึงมาก ใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นหลังการผ่าตัดมากว่าวิธีอื่น
- การผ่าตัดเอามดลูกออกทางช่องคลอด ใช้สำหรับผู้ที่มีมดลูกหย่อน ไม่เหมาะกับผู้ที่มีเนื้องอกมดลูกใหญ่ หรือผู้ที่ต้องผ่าตัดปีกมดลูกร่วมด้วย
- การผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง ปัจจุบันเป็นวิธีที่แพร่หลายมากขึ้น และเป็นมาตรฐานในหลายประเทศทั่วโลก แพทย์จะเปิดแผลขนาดเล็ก 0.5-1 ซม. จำนวน 3-4 แผลที่หน้าท้อง แล้วใช้กล้องและเครื่องมือเข้าไปผ่าตัดในช้องท้อง ข้อดีคือ “แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว” เมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง
- การผ่าตัดส่องกล้องแบบไร้แผล เป็นวิธีการผ่าตัดแบบใหม่ ผู้ป่วยจะ “ไม่มีแผลที่หน้าท้อง” เลย โดยแพทย์จะผ่าตัดส่องกล้องเข้าทางรูเปิดตามธรรมชาติ เช่น ช่องคลอดในสตรี แล้วใช้เครื่องมือเข้าไปผ่าตัดเพื่อนำเนื้องอกหรือมดลูกออก ซึ่งแพทย์สามารถเห็นรอยโรคได้อย่างชัดเจนผ่านทางกล้อง นอกจากนี้ การห้ามเลือดระหว่างผ่าตัด สามารถทำได้ดีกว่าการผ่าตัดทางช่องคลอดแบบเดิม ด้วยการผ่าตัดวิธีนี้ ผู้ป่วยจึง “ไม่มีแผล เจ็บปวดน้อย ฟื้นตัวไว” ความพึงพอใจหลังการผ่าตัดค่อนข้างมาก และนับว่าประสบความสำเร็จในเรื่องของความสวยงามของการผ่าตัด (Cosmetic Result) อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าผู้ป่วยทุกรายจะสามารถรับการผ่าตัดส่องกล้องแบบไร้แผลได้ ขึ้นอยู่กับภาวะของผู้ป่วยแต่ละบุคคล และวิจารณาของแพทย์ในการเลือกใช้วิธีผ่าตัดที่เหมาะสม
โรคหรือภาวะใด ที่เหมาะสมในการผ่าตัดส่องกล้องแบบไร้แผล?
- เนื้องอกมดลูก ที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก
- ติ่งเนื้อ หรือเนื้องอกในโพรงมดลูก
- เยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติ
- พบเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูกแต่ยังไม่ใช่มะเร็ง
- เนื้องอกรังไข่บางประเภท
อย่างไรก็ตาม วิธีการผ่าตัดส่องกล้องแบบไร้แผลยังเป็นวิธีใหม่ การผ่าตัดจึงจำเป็นต้องใช้ความชำนาญและแพทย์ผู้มีประสบการณ์ในการผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้ ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดทางนรีเวช ควรปรึกษาแพทย์ผู้ผ่าตัด ถึงแนวทางการผ่าตัด ข้อดี และข้อเสียในการผ่าตัด เพื่อให้ได้รับการผ่าตัดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating