บทความสุขภาพ

วิถีชีวิตปัจจุบันเสี่ยงหลอดเลือดสมองตีบตั้งแต่วัยรุ่น ตรวจเร็วรักษาทัน ป้องกันอัมพาต

Share:

โรคหลอดเลือดสมองตีบ” หลายคนอาจคิดว่าเป็นโรคไกลตัว เพราะส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้สูงอายุ แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ประกอบกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ที่นำพาไปสู่ปัจจัยเสี่ยงโดยไม่ทันคาดคิด อาทิ การรับประทานอาหาร การสูบบุหรี่ หรือขาดการออกกำลังกายอย่างพอเพียง ทำให้โรคหลอดเลือดสมองตีบสามารถเกิดขึ้นได้กับวัยรุ่นและวัยทำงานมากขึ้น ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้มักมีอาการรุนแรง บางรายอาจเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้

โรคหลอดเลือดสมองตีบ คือ ภาวะที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้สมองทำงานผิดปกติ สาเหตุอาจเกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดจากการเกาะของคราบไขมัน หินปูน หรือลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือด โดยผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการผิดปกติของระบบประสาทอย่างเฉียบพลัน ซึ่งอาการและความรุนแรงขึ้นอยู่กับตำแหน่งสมองที่ขาดเลือด โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการชาบริเวณใบหน้าครึ่งซีก ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง การมองเห็นผิดปกติ เช่น ตามัว เห็นภาพซ้อน เดินเซ สูญเสียการทรงตัว เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ ระหว่างผู้สูงอายุและวัยรุ่นวัยทำงาน สามารถแบ่งได้เป็น 2 ปัจจัย คือ

  1. ปัจจัยที่เหมือนกันและสามารถป้องกันได้ เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหาร อันก่อให้เกิดภาวะเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง รวมถึงการสูบบุหรี่ เป็นต้น
  2. ปัจจัยที่แตกต่างกันและควบคุมไม่ได้ เช่น อายุ เมื่ออายุมากขึ้น ความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบก็จะเพิ่มขึ้นด้วย แต่ในวัยรุ่นหรือวัยทำงานจะมีโรคบางโรคที่ส่งผลให้เกิดโรคสมองตีบได้ เช่น โรคหัวใจผิดปกติ ลิ้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ การแข็งตัวของหลอดเลือด หรือ โรคหลอดเลือดผิดปกติจากพันธุกรรม หรือการอักเสบของหลอดเลือด เป็นต้น
brain-2
การตรวจวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองตีบทั้งในผู้สูงอายุ และวัยรุ่นวัยทำงาน สามารถตรวจได้หลายวิธี ตั้งแต่การตรวจสแกนคอมพิวเตอร์ ฉีดสีดูหลอดเลือด หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI สมอง เป็นต้น แต่ปัจจุบันมีวิธีที่ง่ายกว่า สามารถทำได้ทันทีคือ การตรวจอัลตราซาวนด์หลอดเลือดที่คอ ซึ่งการตรวจนี้สามารถดูได้ทั้งขนาดของหลอดเลือดและเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง รวมถึงสามารถดูคราบหินปูนและคราบไขมันที่เกาะตามเส้นเลือดได้อีกด้วย ซึ่งผู้ที่ควรตรวจด้วยวิธีอัลตร้าซาวนด์หลอดเลือดที่คอ ได้แก่

  • ผู้ที่มีอาการหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน
  • ผู้ป่วยที่แพทย์ตรวจพบเสียงฟู่ผิดปกติที่คอ ทั้งที่อาจจะเคยหรือไม่เคยมีอาการหลอดเลือดสมองตีบมาก่อน
  • ผู้ป่วยที่ต้องการประเมินก่อนการผ่าตัด เพื่อดูความเสี่ยงของการเกิดหลอดเลือดสมองตีบ โดยเฉพาะการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การผ่าตัดหลอดเลือดและหัวใจ
  • คนไข้ที่เป็นโรคกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิตสูง หรือคนไข้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบระยะเฉียบพลัน ปัจจุบันมีวิธีการรักษาด้วยยาฉีดละลายลิ่มเลือดเข้าทางหลอดเลือดดำ หรือการใส่สายสวนหลอดเลือด ซึ่งเป็นการเปิดหลอดเลือดไปเลี้ยงสมองได้รวดเร็ว ลดความเสี่ยงของการเกิดอัมพฤกษ์หรืออัมพาต ซึ่งการรักษาดังกล่าวจะสามารถทำได้ หากผู้ป่วยมีอาการและมาถึงโรงพยาบาลภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง หรือ 6 ชั่วโมงตามลำดับ และไม่มีข้อห้ามของการรักษา ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าหลอดเลือดสมองตีบตันเฉียบพลัน จึงควรรีบมาโรงพยาบาลทันที

ส่วนการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ จะเน้นที่การตรวจหาปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองตีบ หากตรวจพบและรักษาได้เร็ว จะสามารถป้องกันโรคหลอดเลือดสมองตีบได้ รวมไปถึงการงดสูบบุหรี่และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถช่วยป้องกันได้เช่นกัน


ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5400

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (4 )
  • Your Rating