บทความสุขภาพ

ใจสั่น เรื่องธรรมดาที่ไม่ควรละเลย

Share:

ใจสั่นเป็นอาการที่รู้สึกว่า หัวใจเต้นไม่ปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ การเต้นของหัวใจขาดหายไป เต้นไม่สม่ำเสมอ เต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ

สาเหตุ

สาเหตุของอาการใจสั่นส่วนใหญ่เกิดจากโรคทางหัวใจ เช่น กลุ่มโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ หรือ 43% เกิดจาก

  • โรคลิ้นหัวใจยาว (Mitral Valve Prolapse)
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ (Hypertrophic Cardiomyopathy)
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease)
  • โรคหัวใจวาย (Heart Failure)

สาเหตุอื่นๆ อาจเกิดจากความเครียด, กลัว, ตื่นเต้น แพ้ยา เช่น ยาแก้หวัดบางชนิด (Pseudoephedrine), ยาแก้หอบหืด (Salbutamol), การเปลี่ยแปลงฮอร์โมนในระหว่างประจำเดือน หรือภาวะทางกายอื่นๆ เช่น ความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย, ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือทำงานมากเกินไป (Hyperthyroidism), ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ, โลหิตจาง หรือภาวะขาดน้ำ เป็นต้น

อาการ

อาการใจสั่นที่อาจเป็นสัญญาณบอกว่ากำลังเกิดภาวะทางหัวใจที่อันตราย และต้องรีบพบแพทย์คืออาการใจสั่นที่เกิดขึ้นร่วมกับ

  • เวียนศีรษะ
  • หายใจตื้น
  • เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก
  • หน้ามืดหรือเป็นลม

การวินิจฉัย

แพทย์จะซักประวัติผู้ป่วย เช่น กิจวัตรประจำวัน, ระดับความเครียดและยารักษาโรคที่ใช้อยู่ จากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกาย และอาจให้ตรวจเพิ่มเติม ได้แก่

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography) ช่วยตรวจการทำงานของหัวใจเป็นการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าผู้ป่วยมีโรคหัวใจหรือภาวะทางหัวใจอื่นหรือไม่
  • ใช้อุปกรณ์บันทึกจังหวะการเต้นหัวใจ 24 ชั่วโมง เป็นอุปกรณ์พกพาที่ใช้บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งจะช่วยหาความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจตลอดทั้งวัน
  • การตรวจด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology Study) เป็นการตรวจการทำงานของคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อหาจุดกำเนิดของภาวะหัวใจเต้นผิดปกติซึ่งจะสามารถช่วยให้แพทย์พิจารณาได้ว่าควรใช้ยาหรือวิธีใดในการรักษา

วินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุอื่นๆ โดยอาจพิจารณาทำเฉพาะเมื่อสงสัยว่าเกิดจากสาเหตุใดเป็นพิเศษ ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน

  • ตรวจเลือด เช่น ตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์
  • ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นการตรวจดูประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ โดยใช้การสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่
  • เอกซเรย์ปอด
  • การทดสอบสมรรถภาพหัวใจในขณะที่ออกกำลังกาย
  • การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ เป็นวิธีที่ใช้เพื่อหาความผิดปกติหรือตรวจสอบการอุดกั้นการไหลเวียนโลหิตของหลอดเลือดหัวใจ

การรักษา

ภาวะใจสั่นจะรักษาตามสาเหตุ โดยส่วนใหญ่หากมีอาการไม่แน่ชัด หรือแพทย์ไม่สามารถหาสาเหตุได้ แพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้เกิดอาการ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หรือยาบางชนิด เป็นต้น
ในกรณีผลตรวจการเต้นของหัวใจ 24 ชั่วโมง พบว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจเต้นผิดปกติที่ร้ายแรง การรักษาอาจต้องใช้ยาเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจ (Cardiac Ablation) 

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี โทร 02-734-0000 ต่อ 5300

  • Readers Rating
  • Rated 4 stars
    4 / 5 (9 )
  • Your Rating