บทความสุขภาพ

ปัญหาสุขภาพที่ผู้หญิงต้องรู้ : เนื้องอกมดลูก

Share:

โรคเนื้องอกมดลูกคืออะไร

โรคเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกเป็นโรคของกล้ามเนื้อมดลูกที่พบบ่อยไม่ใช่เนื้อร้าย หรือไม่ใช่มะเร็งเนื้องอกชนิดนี้อาจโตเข้าไปในโพรงมดลูก หรือโตเป็นก้อนนูนออกมาจากตัวมดลูกจนคลำได้จากทางหน้าท้อง โดยส่วนใหญ่แล้วการโตของก้อนเนื้องอกมดลูกจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ในบางรายอาจไม่โตเพิ่มขึ้นและไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ และที่สำคัญ ขนาด ตำแหน่ง และจำนวนของก้อนเนื้องอกมดลูกจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ผู้ป่วยบางรายอาจมีก้อนเดียว บางรายอาจมีเนื้องอกมดลูกหลายก้อน เป็นต้น

ปัจจัยที่มีผลต่อการโตของเนื้องอกมดลูก

  1. ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเติบโตของเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกก็คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงของเรานั่นเองดังนั้น เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก จึงมีขนาดเล็กลงได้บ้าง หลังจากผู้ป่วยเข้าวัยทอง
  2. การได้รับยา และสารบางชนิด ที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจน
  3. พันธุกรรม มีแนวโน้มในการพบเนื้องอกมดลูกได้ ในครอบครัวเดียวกัน

ชนิดและอาการของเนื้องอกมดลูก

ชนิดที่พบในปัจจุบัน

เราสามารถแบ่งชนิดของเนื้องอกมดลูกได้ตามตำแหน่งที่พบ ประกอบด้วย

  1. เนื้องอกที่ผิวของผนังมดลูก (Subserous Myoma) เนื้องอกปูดโตขึ้นจากตัวมดลูก มักไม่ค่อยทำให้เกิดอาการแต่ก้อนที่โตมากขึ้นอาจไปเบียดอวัยวะข้างเคียงเช่น กระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้ได้
  2. เนื้องอกในผนังกล้ามเนื้อมดลูก (Intramural Myoma) มักทำให้เกิดอาการ ความรุนแรงอาจแตกต่างกันไปเช่น ประจำเดือนมาเยอะ มานาน ปวดประจำเดือนมาก หรือ เป็นสาเหตุของการมีบุตรยากได้
  3. เนื้องอกในโพรงมดลูก (Submucous Myoma) คือเนื้องอกที่ยื่นเข้าไปในโพรงมดลูก มักทำให้เกิดอาการได้ตั้งแต่ก้อนยังมีขนาดเล็ก

อาการของเนื้องอกมดลูกที่พบได้

  • การเปลี่ยนแปลงของประจำเดือน เช่น มานาน มาบ่อย หรือมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น จนทำให้เกิดภาวะซีดหรือโลหิตจางได้
  • อาการปวด เช่น ปวดประจำเดือน หรือ ปวดหน่วงท้องน้อย
  • อาการของการกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะจะทำให้ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะลำบาก การกดเบียดลำไส้ทำให้เกิดท้องผูกเรื้อรัง เป็นต้น
  • คลำได้ก้อนบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือช่องท้อง ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่หรือมีจำนวนมาก
  • มีบุตรยาก หรือ แท้งบ่อย
  • บางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ เลย แต่ตรวจพบเมื่อตรวจภายในหรือการตรวจอัลตราซาวน์อุ้งเชิงกราน

เนื้องอกมดลูกสามารถมีภาวะแทรกซ้อนได้หรือไม่?

นอกจากอาการของเนื้องอกแล้ว คนไข้อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากเนื้องอก เช่น

  • การบิดขั้วของก้อนเนื้องอกในกรณีที่เนื้องอกโตออกมานอกตัวมดลูก อาการที่พบ คือ อาการปวดที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันร่วมกับมีอาการ คลื่นไส้ อาจมีไข้ได้
  • พบการกดเบียดอวัยวะข้างเคียงจนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น กดทับท่อไตจนท่อไตบวม
  • ตรวจพบอาการปวดเฉียบพลันจากเนื้องอกสลายตัว (degeneration) มักพบในสตรีตั้งครรภ์ที่มีเนื้องอกมดลูกร่วมด้วย
  • พบอัตราการกลายเป็นมะเร็งจากเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกได้น้อยมาก เพียง 1% เท่านั้น

การวินิจฉัยและการรักษาเนื้องอกมดลูก

แพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจภายใน และการตรวจอัลตราซาวน์อุ้งเชิงกราน การอัลตราซาวน์ทางช่องคลอด มักเห็นได้ชัดกว่าทางหน้าท้อง นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ เมื่อมีข้อสงสัยจากการตรวจเบื้องต้น เช่น เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

วิธีการรักษา

  1. ในกรณีเป็นเนื้องอกมดลูกที่ไม่มีอาการแพทย์จะติดตามขนาดของเนื้องอกด้วยการอัลตราซาวน์ผู้ป่วยหากก้อนขนาดไม่ใหญ่ขึ้น ก็สามารถติดตามอัลตราซาวน์ต่อได้
  2. ยารักษาเพื่อบรรเทาอาการปวดจากเนื้องอก เช่น ยาบำรุงเลือด ยาแก้ปวด ยาฮอร์โมนที่สามารถลดปริมาณประจำเดือนได้
  3. หากเป็นเนื้องอกที่มีอาการมาก ไม่ตอบสนองต่อยา หรือมีภาวะแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด

การรักษาด้วยการผ่าตัด

สามารถใช้ การผ่าตัดเนื้องอกมดลูก เพื่อนำแต่ก้อนเนื้องอกออก หรือผ่าตัดนำมดลูกออก แพทย์จะพิจารณาการรักษาจาก อาการ ความรุนแรงของโรค ความต้องการมีบุตร และภาวะแทรกซ้อน

เทคนิคในการผ่าตัดสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดส่องกล้องและการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง โดย

  1. การผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง แพทย์จะเปิดแผลขนาดเล็กทางหน้าท้อง ขนาดแผลประมาณ 0.5-1 ซม. จำนวน 3-4แผล เพื่อผ่าตัดเอาเนื้องอกมดลูกหรือมดลูกออกข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้อง คือ การมีแผลเล็ก เจ็บแผลน้อย ใช้เวลาในการพักฟื้นหลังผ่าตัดน้อย
  2. การผ่าตัดส่องกล้องแบบไร้แผล เรียกตามตัวย่อว่าNOTES แพทย์จะทำการผ่าตัดส่องเข้าทางรูปเปิดตามธรรมชาติของร่างกาย ทำให้ไม่มีแผลเป็นที่หน้าท้อง เจ็บแผลน้อยลง มักใช้กับการผ่าตัดนำมดลูกออก
  3. การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง เปิดการเป็นแผลยาวประมาณ 10 ซม. เพื่อใช้ในการผ่าตัดเนื้องอก หรือผ่าตัดมดลูก

ติดต่อสอบถาม

ศูนย์สุขภาพสตรี ชั้น 2 โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 3200 , 3204

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (4 )
  • Your Rating