บทความสุขภาพ

Shake หนัก ระวังข้อมือเดี้ยง

Share:

อาการปวดบริเวณข้อมือเป็นอาการที่พบบ่อย ทำให้เคลื่อนไหวมือลำบาก บางรายปวดมาก แต่ก็ไม่สามารถระบุอาการที่แน่ชัดได้ ซ้ำร้ายไม่รู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ทำให้ต้องทนเจ็บปวดเรื้อรัง จนกว่าจะได้พบแพทย์จึงจะได้รับคำตอบที่ชัดเจน

เอ็นอักเสบที่ข้อมือ

เกิดจากเส้นเอ็นบริเวณข้อมือ 2 เส้น ซึ่งอยู่คู่กันบริเวณข้อมือ คือ Abductor Pollicis Longus (APL) ทำหน้าที่ในการกางนิ้วหัวแม่มือออกจากฝ่ามือ และ Extensor Pollicis Brevis (EPB) ทำหน้าที่เหยียดกระดูก  นิ้วมือท่อนต้นของนิ้วหัวแม่มือ โดยภายในปลอกหุ้มเอ็นจะมีเยื่อหุ้มเอ็นที่เรียกว่า Tenosynovium อาการอักเสบที่เกิด ขึ้นบริเวณ Tenosynovium นี้ จะทำให้เกิดการตีบ หรือหดตัวในการเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นภายใน

เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวของมือ และนิ้วโป้งบ่อยครั้ง เช่น การจับ บีบ คั้น หรือเขย่าเป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดอาการอักเสบ และบวมได้ ทำให้การเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นภายในปลอกหุ้มเอ็นไม่ลื่นไหลตามปกติ ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมสภาพตามอายุที่มากขึ้น และการใช้งาน นอกจากนั้น โรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น โรครูมาตอยด์ ก็เป็นสาเหตุการอักเสบของเยื่อหุ้มเอ็น ส่วนพังผืดที่เกิดจากการผ่าตัด มีผลทำให้การเคลื่อนไหวของเอ็นภายในปลอกหุ้มเอ็นเป็นไปอย่างลำบาก

เบื้องต้นจะมีอาการช้ำระบมบริเวณนิ้วโป้งด้านปลายแขนใกล้กับข้อมือ ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการเจ็บปวดจะเพิ่มขึ้น และขยายไปยังบริเวณปลายแขนช่วงข้อมือและนิ้วโป้ง เส้นเอ็นทั้ง 2 เส้นจะเกิดการเสียดสีขณะที่เคลื่อนที่ผ่านปลอกหุ้มเอ็น หากมีอาการรุนแรงมากจะเกิดการบวมบริเวณปลอกหุ้มเอ็นใกล้ๆ กับข้อมือ และทำให้การหยิบจับด้วยนิ้วโป้ง และมือมีอาการเจ็บปวดมากขึ้น

หากมีอาการเจ็บปวดตามข้างต้น ควรจะหยุดหรือเปลี่ยนแปลง การทำ กิจกรรมที่เป็นสาเหตุของการเกิดอาการดังกล่าว และควร หยุดพักการใช้งาน เมื่อใช้งานบริเวณมือ และนิ้วโป้งซ้ำๆ บ่อยๆ นอกจากนั้น ควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวของมือ เช่น การหยิบของหนัก การเขียน หรือการบิดหมุนข้อมือ โดยแพทย์อาจแนะนำให้ ใส่เฝือกอ่อนบริเวณแขน และนิ้วโป้ง เพื่อให้ข้อมือ และกระดูกข้อต่อ บริเวณใต้นิ้วโป้งอยู่กับที่ ลดการใช้งานของเส้นเอ็น และให้แต่ละ ส่วนได้รับการรักษา นอกจากนั้น การรับประทานยาแก้อักเสบจะช่วย ลดอาการบวมของเยื่อหุ้มเอ็น และบรรเทาอาการเจ็บปวดได้

ทั้งนี้หากใช้วิธีการรักษาข้างต้นแล้วไม่เห็นผล แพทย์จะแนะนำ ให้ฉีดยาคอทิโซนที่ปลอกหุ้มเอ็นที่มีอาการบวม ซึ่งจะช่วยลดอาการ บวมของเยื่อหุ้มเอ็น ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ชั่วคราว และ ควบคุมการอักเสบในขั้นต้นของอาการได้ ซึ่งแพทย์อาจแนะนำเพิ่ม เติมให้ทำกายภาพ เพื่อช่วยลด หรือขจัดสาเหตุอาการเส้นเอ็นบริเวณ นิ้วโป้งอักเสบ และแนะนำวิธีการใช้ร่างกาย และข้อมือในการทำงาน การออกกำลังกาย และวิธีป้องกันการเกิดอาการในอนาคต

อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่รักษาด้วยวิธีข้างต้นไม่หายก็คือการผ่าตัด เพื่อเพิ่มพื้นที่ไม่ให้เอ็นเสียดสีกันภายในปลอกหุ้มเอ็น คนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดจะไม่ได้พักฟื้นที่โรงพยาบาล เนื่องจากแพทย์จะฉีดยาชาบริเวณผิวหนัง ศัลยแพทย์จะทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรคผิวหนังบริเวณปลายแขน และข้อมือ จากนั้นจะทำการเปิดขยายปลอกหุ้มเอ็นใต้นิ้วโป้งบริเวณข้อมือ เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับเส้นเอ็นมากขึ้น เมื่อแผลบริเวณปลอกหุ้มเอ็นสมานกัน เนื้อเยื่อจะปิดหุ้มปลอกหุ้มเอ็นบริเวณที่เปิดไว้

หลังการผ่าตัด คนไข้จะต้องดูแลแผลผ่าตัดอย่างระมัดระวัง สามารถขยับนิ้วมือได้ทันที แต่ไม่ให้แผลผ่าตัดโดนน้ำ แพทย์จะนัดมาตัดไหมหลังการผ่าตัด 10-14 วัน นอกจากนี้นักกายภาพจะแนะนำวิธีการบริหารข้อบริเวณมือ และนิ้วโป้งให้แข็งแรง วิธีการทำงานป้องกันการเกิดปัญหาของข้อมือและนิ้วโป้ง และวิธีการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บในอนาคต

หากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นเอ็นอักเสบที่ข้อมือ ทางที่ดีควรมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย และดูแลรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง เพื่อจะได้ไม่ต้องทนทรมานกับอาการเจ็บปวดข้อมือ…ที่คุณยังต้องพึ่งพาใช้งานไปอีกนาน

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (3 )
  • Your Rating