บทความสุขภาพ

รู้ทันภัยโรคหัวใจ

Share:

นพ.ปัญเกียรติ โตพิพัฒน์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด เปิด เผยถึงปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทยว่าข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก แสดงอัตราการเกิดโรคหัวใจและการเสียชีวิตจากโรคหัวใจในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศโลกตะวันตก หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งน่าจะเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตในเมืองที่เร่งรีบ ขาดการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก

นอกจากนี้ จำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจดูเหมือนกำลังเพิ่มขึ้น โดยความชุกของการวินิจฉัยผู้ป่วยว่ามีโรคหัวใจโดยแพทย์ จากการสำรวจพบว่าเพิ่มขึ้นจาก 0.5 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2548 เป็น 0.7 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2550

โรคหัวใจ – อาการเบื้องต้นที่สามารถพบเห็นได้
สำหรับอาการของโรคหัวใจที่พบบ่อยได้แก่ เจ็บแน่นหน้าอก ลักษณะคล้ายมีน้ำหนักกดทับ หรือรัดแน่นที่หน้าอก บางคนอาจจะมีอาการร่วมกับหน้ามืด เหงื่อออกมาก เหนื่อยง่าย ออกแรงมากไม่ได้ หรืออาการหอบเหนื่อย ก็เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคหัวใจ ถ้าหากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยแพทย์อาจแนะนำการตรวจหลายวิธี ขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล กรณีที่มีอาการมากแพทย์อาจตรวจเลือดดูว่า มีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือไม่ หรืออาจทำการตรวจสวนหัวใจ เพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอน วิธีนี้แพทย์สามารถมองเห็นเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจได้โดยตรง ว่ามีการอุดตันมากน้อยเพียงใด อุดตันกี่แห่ง สภาพหลอดเลือดที่อุดตัน สามารถทำการรักษาโรคหัวใจ ด้วยวิธีถ่างขยายหลอดเลือดที่อุดตันด้วยบอลลูนได้หรือไม่ จำเป็นต้องใส่ขดลวดถ่างขยายหรือไม่ หรือจำเป็นต้องรักษาด้วยการทำผ่าตัดต่อเส้นเลือดในกรณีที่จำเป็น

การรักษาโรคหัวใจ,สวนหลอดเลือดรักษาโรคหัวใจ
การรักษาโรคหัวใจ โดยการสวนหลอดเลือดทางหลอดเลือดแดงที่ข้อมือ
สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจบางท่านที่กลัวการสวนหัวใจด้วย วิธีเดิม ที่ต้องทำการสวนหัวใจเข้าทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบ ซึ่งผู้ป่วยจะไม่สามารถลุกหรือขยับได้ภายใน 6-12 ชั่วโมง และต้องนอนโรงพยาบาลต่ออีก 1 คืน แต่ปัจจุบันการรักษาโรคหัวใจก้าวหน้าไปมาก แพทย์สามารถทำการสวนหลอดเลือดหัวใจผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ข้อมือได้ โดยใช้เวลาพักฟื้นสั้นลงแค่ 4-8 ชั่วโมง และทราบผลการตรวจได้ทันที อีกทั้งหากต้องทำการขยายหลอดเลือด ก็สามารถทำบอลลูนพร้อมใส่ขดลวด โดยสอดสายสวนเข้าทางข้อมือได้ เมื่อคลำชีพจรแล้วแรงพอ วิธีการนี้จะทำให้ผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วยหญิงที่มีปัญหาปัสสาวะบ่อยๆ ไม่สามารถนอนนานๆ ได้รับความสะดวกระหว่างการสวนหัวใจและหลอดเลือดเป็นอย่างมาก เนื่องจากหลังการรักษาสามารถลุกนั่งหรือยืนได้ทันทีี

ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 5300

รู้ทันภัยโรคหัวใจ

  • Readers Rating
  • Rated 4.5 stars
    4.5 / 5 (2 )
  • Your Rating