บทความสุขภาพ

ตรวจแบบไหน…เหมาะกับหัวใจคุณ

Share:

เมื่อถึงคราวที่ต้องตรวจสุขภาพหัวใจ ผู้ป่วยหลายคนอาจยังไม่เข้าใจเพียงพอว่า การที่คุณหมอส่งไปตรวจหัวใจด้วยเครื่องมือต่างๆ ที่มีศัพท์คุ้นหูบ้าง ไม่คุ้นหูบ้างนั้น เพื่อมองหาอะไร และทำไมเราต้องตรวจด้วยเครื่องมือชนิดนั้นๆ รวมถึงความคุ้มค่าของผลในการตรวจนั้นเป็นอย่างไร และนี่คือข้อมูลที่จะทำให้คุณรู้จักและเข้าใจถึงการตรวจสุขภาพหัวใจแต่ละชนิดว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร

การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกายด้วยการเดินสายพาน
(Exercise Stress Test : EST)

ใช้วินิจฉัยภาวะหัวใจขาดเลือด หลักการคือ ให้ผู้รับการทดสอบออกกำลังกายโดยเดินบนสายพานที่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ (บางแห่งอาจให้ปั่นจักรยานแทน) เมื่อออกกำลังกายหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับเลือดมาเลี้ยงมากขึ้นด้วย หากมีหลอดเลือดหัวใจตีบ เลือดจะไม่สามารถเดินทางมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอ ทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก และมีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจให้เห็น โดยจะทำการต่อขั้วและสายนำไฟฟ้าบริเวณหน้าอก 10 สาย เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ ในขณะที่เดินอยู่ เครื่องฯจะบันทึกและแสดงลักษณะของคลื่นนำไฟฟ้าภายในหัวใจ พร้อมทั้งความดันโลหิตตลอดเวลา ในขณะทดสอบจะมีการเพิ่มความเร็ว และความชันของเครื่องเป็นระยะๆ ตามโปรแกรม โดยจะเลือกให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ทดสอบในแต่ละราย การทดสอบนี้ยังช่วยให้แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยเหนื่อยง่ายกว่าคนปกติหรือไม่ และใช้ในการติดตามผู้ป่วยภายหลังได้รับการรักษาด้วย

ประโยชน์ที่ได้รับ

ผู้ป่วยไม่เจ็บตัว แต่ต้องออกแรงโดยการเดินบนสายพาน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย
ข้อจำกัด
ไม่สามารถเห็นโครงสร้างของหัวใจได้
มีข้อจำกัดสำหรับผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น เดินได้ไม่ดีเพราะปวดเข่า หรืออายุมาก
ในบางกรณีที่ตรวจเสร็จแล้ว แม้ว่าผลการตรวจจะเป็นปกติ แต่ก็ไม่สามารถสรุปได้ 100% ว่าไม่มีโรคหัวใจขาดเลือด ในขณะเดียวกันบางราย (เช่น ผู้หญิง หรือผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง) ผลการตรวจผิดปกติ แต่ความจริงอาจจะไม่มีโรคหัวใจขาดเลือดก็เป็นได้

อัลตราซาวน์หัวใจ (Echocardiogram : ECHO)

ด้วยหลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูง ที่ถูกปล่อยออกมาจากหัวตรวจชนิดพิเศษ ซึ่งจะส่งผ่านผนังทรวงอกไปถึงหัวใจ เมื่อคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านอวัยวะต่างๆ จะเกิดสัญญาณสะท้อนกลับ ที่แตกต่างกันระหว่างน้ำและเนื่อเยื่อ คอมพิวเตอร์จะนำเอาสัญญาณเหล่านี้มาสร้างภาพ ดังนั้น ภาพที่เห็นคือหัวใจของผู้ป่วย ECHO จึงช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค พยากรณ์โรค ตรวจหาความรุนแรง ติดตามผลการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ

ประโยชน์ที่ได้รับ

ผู้ป่วยไม่เจ็บตัว สามารถเห็นการทำงานของลิ้นหัวใจได้ดี บอกความสามารถในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจได้ดี เห็นช่องเยื่อหุ้มหัวใจ

ข้อจำกัด
ดูได้เฉพาะโครงสร้างหัวใจ แต่จะไม่เห็นเส้นเลือดหัวใจ
ในผู้ป่วยที่อ้วนหรือผอมมาก หรือมีถุงลมโป่งพอง ภาพที่ได้อาจไม่ชัดเจน เนื่องจากไขมันและอากาศขัดขวางคลื่นเสียงความถี่สูง จึงอาจจำเป็นต้องสอดเครื่องมือลงทางหลอดอาหาร เพื่อให้เครื่องมืออยู่ใกล้หัวใจมากที่สุด

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)

คือการตรวจจับกระแสไฟฟ้าที่ออกมาจากหัวใจ การที่กล้ามเนื้อหัวใจจะทำงานบีบตัวได้ จะต้องอาศัยไฟฟ้ากระตุ้น ไฟฟ้านี้มาจากหัวใจเอง โดยจะปล่อยไฟฟ้าออกมาเป็นจังหวะ จากหัวใจห้องบนขวาลงมายังหัวใจห้องล่าง ขณะที่ไฟฟ้าผ่านกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจจะเกิดการหดตัว (ตามมาด้วยการคลายตัว) หัวใจจึงบีบตัวไล่เลือดจากห้องบนมายังห้องล่าง อย่างสัมพันธ์กัน เมื่อเรานำเอาตัวจับสัญญาณไฟฟ้ามาวางไว้ที่หน้าอกใกล้หัวใจ จะสามารถบันทึกไฟฟ้าที่ออกจากหัวใจนี้ได้

ประโยชน์ที่ได้รับ
ผู้ป่วยไม่เจ็บตัว
ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหัวใจ เช่น จังหวะการเต้น ความสม่ำเสมอ การนำไฟฟ้าในหัวใจ ชนิดของการเต้นผิดจังหวะ หัวใจโตหรือไม่ กล้ามเนื้อหัวใจตาย กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความผิดปกติของระดับเกลือแร่บางชนิด เป็นต้น ข้อมูลที่ได้ต้องนำมาแปรผลอีกครั้ง โดยอาศัยประวัติการตรวจร่างกาย ความชำนาญของแพทย์ จึงจะสรุปได้ว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติหรือไม่

ข้อจำกัด
คลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติ ไม่ได้หมายความว่าหัวใจปกติปราศจากโรค ในขณะเดียวกัน คลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ดูผิดปกติ ไม่ได้แปลว่าหัวใจผิดปกติเสมอไป มีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการแปรผลด้วย เช่น น้ำหนัก อายุ อาการขณะตรวจ เป็นต้น
คลื่นไฟฟ้าหัวใจจะผิดปกติก็ต่อเมื่อเป็นโรคขั้นรุนแรงจนเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายแล้ว ถ้าเป็นเพียงหลอดเลือดตีบแต่ไม่รุนแรงก็อาจตรวจไม่พบได้
คลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่ได้บอกความผิดปกติของลิ้นหัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจโดยตรง แต่เป็นการตรวจผลเสียที่เกิดขึ้นเนื่องจากโรคของลิ้นหัวใจหรือหลอดเลือดหัวใจ การตรวจจะได้ประโยชน์เมื่อตรวจขณะเกิดอาการ เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ เจ็บหน้าอก เป็นต้น

การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)

เป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง ที่สามารถสร้างภาพได้ครั้งเดียว 64 ภาพต่อการหมุน 1 รอบ (360 องศา) ด้วยความเร็วเพียง 0.4 วินาที ส่งผลให้การตรวจมีความแม่นยำสูง โดยเฉพาะอวัยวะภายในที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา เช่น หัวใจ ซึ่งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั่วไปจะได้ภาพที่ไม่ชัดเจน อีกทั้งเครื่องดังกล่าวสามารถทำให้เกิดภาพที่ชัดเจนทั้งแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ รวมถึงทุกส่วนต่างๆ ของร่างกาย อาทิ เส้นเลือด เนื้อเยื่อ กระดูก หัวใจ หรือแม้แต่ท่อลมในปอด ด้วยเหตุนี้เครื่องดังกล่าวจึงเอื้อประโยชน์ทั้งในด้านการตรวจวินิจฉัยโรค และการวางแผนการรักษาให้ผู้รับการรักษาได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว

ประโยชน์ที่ได้รับ
บอกปริมาณแคลเซียม หรือคราบหินปูนที่เกาะอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะบ่งชี้ความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในอนาคตร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
สามารถทำการตรวจผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเป็นโรคหัวใจ เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ หรืออุดตัน ซึ่งช่วยวินิจฉัยผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการของโรคหัวใจให้เห็น ทำให้สามารถป้องกันและทำการรักษาได้ทันเวลา
ผู้ป่วยที่ทำการสวนหัวใจ และใส่ขดลวด หรือเครื่องกระตุ้นหัวใจไปแล้ว สามารถติดตามผลการรักษา เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการรักษาเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย มีความแม่นยำสูง และค่าใช้จ่ายไม่แพงเมื่อเทียบกับการตรวจด้วยวิธีอื่น

ข้อจำกัด
ผู้ป่วยได้รับรังสี ไม่เหมาะกับสตรีมีครรภ์และผู้ป่วยเด็ก
อาจมีโอกาสแพ้สารทึบรังสี หรือมีอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยหลังฉีดสารทึบรังสี ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง เจ็บปวดและร้อนทั่วร่างกาย แต่อาการดังกล่าวจะบรรเทาลง อาการอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ หนาวสั่น มีไข้เหงื่อออก ปวดศรีษะมึนงง อ่อนเพลีย ความดันโลหิตผิดปกติ คัน ลมพิษ ไอ จาม จนถึงอาการหมดสติแต่เกิดขึ้นได้น้อยมาก
การแยกความแตกต่างของเนื้อเยื่อปกติและเนื้อเยื่อผิดปกติที่มีความหนาแน่นใกล้เคียงกันทำได้ยาก

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiac MRI)

เป็นการตรวจหัวใจโดยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อสร้างภาพของหัวใจขึ้นมา โดยไม่ต้องใช้สารทึบรังสี เครื่อง MRI มีลักษณะคล้ายเครื่อง CT Scan แต่หนากว่าเล็กน้อย ใช้เวลาในการ scan ประมาณ 10 นาที เครื่อง MRI จะสร้างภาพหัวใจ วิธีนี้จะสามารถดูการทำงานของหัวใจด้วยการตรวจอัลตร้าซาวด์หัวใจ ดูโครงสร้างหัวใจ ลิ้นหัวใจ การทำงานหรือการบีบตัวของหัวใจ การขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจ และหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น

ประโยชน์ที่ได้รับ
เห็นสภาวะหัวใจได้ดีกว่าการอัลตร้าซาวน์ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องความอ้วนของผู้ป่วย สิ่งที่มองเห็นได้ คือ ลิ้นหัวใจ เพื่อดูว่ามีการตีบหรือรั่ว เยื่อหุ้มหัวใจ ผนังกั้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ
เห็นหลอดเลือดหัวใจได้ดี
ไม่ต้องใช้รังสีและสารทึบรังสี มีความปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อการทำงานของไตหรือแพ้สารทึบรังสี แต่ในบางกรณีอาจต้องใช้สารบางอย่างเพื่อให้เห็นการไหลเวียนของเลือดชัดขึ้น
สามารถตรวจว่ามีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายไปแล้วหรือไม่ ช่วยให้แพทย์สามารถพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ข้อจำกัด
เห็นภาพหลอดเลือดหัวใจไม่ชัดเจนเท่าการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับตรวจหลอดเลือดหัวใจ
ควรระวังสำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดฝังหรือใส่โลหะในบางแห่งของร่างกาย เช่น ตา สมอง ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใส่ clip ที่หลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยที่ได้รับการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ เนื่องจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าอาจจะทำให้โลหะเหล่านี้เคลื่อนที่ได้ แต่ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ หรือได้รับการสวนหัวใจและใส่ขดลวดในหลอดเลือดหัวใจ สามารถตรวจด้วยวิธีนี้ได้โดยไม่มีอันตรายใดๆ

สอบถามเพิ่มเติมที่ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-2734-0000 ต่อ 5300, 5301

  • Readers Rating
  • Rated 4.3 stars
    4.3 / 5 (4 )
  • Your Rating