บทความสุขภาพ

การเข้าเฝือก ผู้ป่วยกระดูกหัก

Share:

เมื่อเจอผู้ป่วยกระดูกหัก ผู้ปฐมพยาบาลจะต้องระมัดระวัง ไม่ทำให้กระดูกที่หักตำทะลุออกมาภายนอก เพราะการช่วยเหลือไม่ถูกวิธี จะทำให้รักษาหายช้า หรืออาจทำให้พิการได้

ผู้ป่วยกระดูกหัก จะมีอาการปวด เจ็บ และบวม บริเวณที่มีกระดูกหัก อาจได้ยินเสียงกระดูกหัก เวลาจับกระดูกอาจเสียดสีกันดังกรอบแกรบ อวัยวะส่วนที่มีกระดูกหัก มีรูปร่างเปลี่ยนไป เช่น คดงอ โก่ง โป่งออก เป็นต้น และจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างปกติ ทำให้เจ็บปวดมาก หากไม่แน่ใจว่ามีกระดูกหักหรือไม่ ก็ควรให้การปฐมพยาบาลเหมือนกับมีกระดูกหักไปก่อน

เพื่อไม่ให้ชิ้นส่วนของกระดูกที่หัก เคลื่อนไหว อันอาจเกิดอันตรายตำทะลุหลอดเลือด เส้นประสาท หรือตำทะลุออกมานอกเนื้อ จึงต้องเข้าเฝือกชั่วคราว ก่อนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทุกครั้ง

หลักการเข้าเฝือก

เมื่อมีกระดูกหักการเคลื่อนไหวของข้อ จะทำให้ชิ้นกระดูกที่หักเคลื่อนไหวตามไปด้วย จนอาจเกิดอันตราย ดั้งนั้นการที่จะให้ชิ้นส่วนกระดูกที่หักอยู่นิ่งๆ ได้ ก็โดยการยึดข้อกระดูกให้อยู่นิ่งๆ ด้วยวิธีใดก็ได้ เช่น ใช้ไม้ดาม แฟ้ม กระดาษแข็ง หนังสือพิมพ์ เป็นต้น พับทบให้ยาวพอที่จะยึดให้อยู่นิ่งๆ โดยมีหลักการว่า ต้องยึดข้อกระดูก 1 ข้อ เหนือรอยกระดูกหัก และ 1 ข้อใต้รอยกระดูกหักให้อยู่นิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหว ถ้าเป็นกระดูกหักที่ตำทะลุออกมา ต้องปิดบาดแผลด้วยผ้าสะอาด พันผ้าแล้วจึงเข้าเฝือกชั่วคราว ถ้ามีเลือด ต้องห้ามเลือดก่อน อย่าพยายามดึงกระดูกเข้าที่เอง และให้การปฐมพยาบาล ณ ที่ๆ ผู้ป่วยนอนอยู่ก่อนเคลื่อนย้ายเฝือกชั่วคราวที่ใช้ในการปฐมพยาบาล อาจใช้เฝือกธรรมชาติ หรือวัสดุที่หาได้ในพื้นที่ เฝือกธรรมชาติ ใช้ทรวงอกเป็นเฝือกในรายที่มีกระดูกต้นแขนหัก ใช้แฟ้มหรือกระดาษหนังสือพิมพ์พับทบ หรือใช้ไม้บรรทัดหรือไม้อัดเป็นเฝือกชั่วคราว ในรายที่มีกระดูกปลายแขนหรือข้อมือหัก

กรณีกระดูกหักที่ข้อศอก หรือใกล้ข้อศอก ซึ่งงอข้อศอกไม่ได้ ให้ใช้ไม้อัดดามจากหลังมือถึงหัวไหล่ หรือให้นอนแล้วมัดแขนเข้าติดกับลำตัว

กรณีปลายขาหัก

ให้ขาที่หักอยู่นิ่งๆ เพื่อป้องกันปลายกระดูกที่หักเข้ามาเกยกัน และผ่อนคลายความเจ็บปวด และการเกร็งของกล้ามเนื้อโดยการยึดข้อเหนือรอยกระดูกหัก และใต้รอยกระดูกหักให้อยู่นิ่งๆ
เข้าเฝือกชั่วคราวทั้งสองข้างของขา หรือมัดเข้าด้วยกันกับขาข้างดี ใช้ของนุ่มๆ รองตรงข้อเท้าและเข่าด้วย เฝือกต้องยาวพอจากส้นเท้าจนถึงโคนขาหรือสะโพก เท้าต้องให้ตั้งฉากกับขาที่เหยียด

เมื่อปฐมพยาบาลเรียบร้อยแล้ว ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล แต่อย่าลืมว่า การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกระดูกหักต้องใช้ความระมัดระวังสูง เพราะหากเคลื่อนย้ายผิดวิธีอาจทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิมได้ หรืออาจเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยยังสถานที่ เพื่อการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างปลอดภัย


เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง
โทร. 0-2734-0001

  • Readers Rating
  • Rated 3.2 stars
    3.2 / 5 (3 )
  • Your Rating