“เส้นเอ็นไขว้หน้า ข้อเข่าฉีก ” ปัญหาใหญ่ข้อเข่าเสื่อมในอนาคต - Vejthani Hospital

บทความสุขภาพ

“ เส้นเอ็นไขว้หน้า ข้อเข่าฉีก ” ปัญหาใหญ่ข้อเข่าเสื่อมในอนาคต

Share:

แม้กีฬาจะเป็นกิจกรรมสนุกสนาน ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง แต่ควรเล่นด้วยความระมัดระวังอยู่เสมอ เพราะอุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะการเล่นกีฬาที่มีการเปลี่ยนทิศทางกระทันหัน เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล ฯลฯ เส้นเอ็นอาจรับน้ำหนักไม่ไหว เกิดการบิดหมุนและฉีกขาด ซึ่งการบาดเจ็บที่พบบ่อยครั้ง คือ “เส้นเอ็นไขว้หน้า ข้อเข่าฉีก”

ในข้อเข่ามีเส้นเอ็นหลายเส้น แต่ละเส้นทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของข้อเข่าอย่างเหมาะสม โดย “เส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า” จะอยู่บริเวณจุดกึ่งกลางของข้อเข่า และยาวไปตามแนวเฉียงด้านหลังของกระดูกต้นขาไปจนถึงกระดูกหน้าแข้ง เส้นเอ็นดังกล่าวทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกระดูกหน้าแข้ง ป้องกันไม่ให้ขาส่วนล่างเคลื่อนไปด้านหน้า และป้องกันไม่ให้ขาเกิดการบิดหมุน

โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่ประสบปัญหาเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด จะมีลักษณะอาการหัวเข่าปูดบวมเนื่องจากมีเลือดออกภายใน และเจ็บปวดรุนแรงไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ ราว 1-2 วัน จึงควรประคบเย็น ลดการเคลื่อนไหวเพื่อมิให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่ม และไม่ควรบีบนวดเพราะอาจส่งผลให้บาดเจ็บมากขึ้น

Treating-a-Torn-ACL-pic2

อาการเส้นเอ็นไขว้หน้า ข้อเข่าฉีก ขาด

  • เกิดเสียง “ป๊อบ” ขณะบาดเจ็บ
  • หัวเข่าปูดบวมทันทีหรือภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังบาดเจ็บ
  • เจ็บปวดรุนแรงจนไม่สามารถลงน้ำหนักได้

ทั้งนี้ ความสามารถในการผสานตัวของเส้นเอ็นไขว้ข้อเข่าหน้าค่อนข้างน้อย จากปัจจัยหลายอย่าง เช่น น้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่าป้องกันการผสานของเส้นเอ็น และข้อเข่ามีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา จึงทำให้การผสานของเส้นเอ็นในตำแหน่งเดิมเป็นไปได้ยาก

หากไม่ทำการรักษา อาจส่งผลให้ข้อเข่าไม่มั่นคง เกิดการบิดหมุนตลอดเวลา ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเส้นเอ็นเส้นอื่นเพิ่มอีก และอาจส่งผลให้เส้นเอ็นข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายในอนาคต ซึ่งหากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและถูกวิธี จะสามารถลดโอกาสการเกิดข้อเข่าเสื่อมได้

การรักษา

สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีการใช้เทคนิคผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้อง ขนาดแผลจะเล็กประมาณ 1 เซนติเมตรเท่านั้น โดยแพทย์จะใส่เครื่องมือเพื่อเย็บซ่อมแซมเส้นเอ็น และอาจมีการเปิดแผลอีกประมาณ 2 เซนติเมตร เพื่อนำเส้นเอ็นจากกล้ามเนื้อด้านหลัง หรือเส้นเอ็นบริเวณสะบ้ามาเสริมเข้าไป ซึ่งหลังจากการผ่าตัดควรทำกายภาพบำบัดควบคู่ นอกจากนี้ การผ่าตัดแบบแผลเล็ก ผู้ป่วยยังบาดเจ็บน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเดิม มีผลข้างเคียงน้อยกว่า อีกทั้งยังเอื้อให้ผู้ป่วยพื้นตัวเร็วยิ่งขึ้นด้วย

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 2298

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (7 )
  • Your Rating