บทความสุขภาพ

คำถามน่ารู้เกี่ยวกับ RSV (Respiratory Syncytial Virus)

Share:

1.RSV (Respiratory Syncytial Virus) คืออะไร?

RSV คือ เชื้อไวรัสตระกูลที่มีเปลือกนอก envelopedในกลุ่ม Paramyxoviridae
ลักษณะสำคัญ คือ มีไกลโคโปรตีนที่ผิวชนิด Fและ Gทำให้แทรกซึมเข้าสู่ทางเดินหายใจ ทำให้เกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจที่รุนแรง โดยเฉพาะอยางยิ่งโรคปอดบวมและปอดอักเสบ

2.RSV ติดได้อย่างไร?

เป็นเชื้อไวรัสของ ระบบทางเดินหายใจติดต่อกันแบบ Dropletคือ จากสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย ผ่านการไอ จาม และการสัมผัสกันโดยตรง

3.RSVระบาดช่วงเวลาใด?

ระบาดตามฤดูกาล ช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาวหรือช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง นั่นคือ ระบาดมากช่วงเดือน สิงหาคม จนถึง พฤศจิกายน

4.เมื่อไหร่จะสงสัย ว่าติดเชื้อ RSV?

อาการเริ่มแรกเหมือนไข้หวัดทั่วไป คือ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล และจะหายได้ ภายใน 5-7 วัน เด็กบางคนมีอาการมากกว่าไข้หวัดธรรมดา คือ ไอแบบมีเสมหะร่วมด้วย ไอมากจนอาเจียน อาจมีหายใจเร็ว แรง หายใจลำบาก หรือหายใจแบบมีเสียงวี๊ด (Wheezing) ได้ในรายที่มีอาการหนัก

5.เมื่อติดเชื้อ RSVแล้ว จะป่วยรุนแรงขนาดไหน?

เป็นได้ตั้งแต่ ไข้หวัดธรรมดา (Common cold) กล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis) ไปจนถึง หลอดลมอักเสบ (Bronchitis) หลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis) ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)

6.ติดเชื้อ RSV จะป่วยนานแค่ไหน?

ขึ้นกับว่าติดเชื้อรุนแรงระดับไหน ไข้หวัดธรรมดามักหายได้เอง ภายใน 5-7 วัน ถ้าติดเชื้อถึงทางเดินหายในส่วนล่าง มักจะมีปัญหาเรื่อง ไอ เสมหะเรื้อรัง บางรายจำเป็นต้องได้รับการเคาะปอด ดูดเสมหะ เป็นระยะเวลานานถึง 2-3 สัปดาห์

7.ใครบ้าง ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ RSV?

เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง

8.ปัจจัยที่ทำให้อาการของการติดเชื้อ RSVเป็นรุนแรงขึ้น?

กลุ่มที่มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ทารกคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อยหรือภูมิต้านทานต่ำ รวมถึงเด็กเล็กที่ใกล้ชิดคนสูบบุหรี่

9.การตรวจเชื้อ RSVทำได้อย่างไร?

ตรวจคัดกรองเบื้องต้น โดยการป้ายสารคัดหลั่งน้ำมูกในจมูก (Nasal swab) เหมือนการตรวจไข้หวัดใหญ่ทั่วไป นิยมใช้ การตรวจแบบด่วน (RSV rapid test) ในปัจจุบันมักจะสั่งตรวจควบคู่ไปกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่

10.RSV รักษาให้หายได้อย่างไร?

การรักษา แบ่งเป็น 2 ประเภท

  • การประคับประคองอาการทั่วไป เช่น ให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำ ให้ออกซิเจน ช่วยดูดระบายเสมหะ
  • การรักษาแบบเฉพาะที่ เช่น พ่นยาขยายหลอดลม พ่นน้ำเกลือเข้มข้นชนิดพิเศษ เพื่อลดภาวะหลอดเกร็ง หายใจมีเสียงวี๊ด ในปัจจุบันมีรายงานการใช้ยา Montelukastในการลดความรุนแรงในช่วงแรกของการหายใจหอบ เหนื่อยแบบมีเสียงวี๊ด และใช้ยาต่อเนื่องเพื่อลดการกลับมาเป็นซ้ำ

11.ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะตามมาหลังติด RSV?

แม้จะรักษาหายขาดแล้ว ก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก โดยเด็กมักมีภาวะหลอดลมไวตามมา ทำให้หายใจเหนื่อยง่าย หลังการติดเชื้อทางเดินหายใจรวมถึงมีรายงานเมความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืดได้สูงขึ้นทั้งในเด็กที่มี และไม่มีความเสี่ยงของโรคภูมิแพ้ในครอบครัว

12.การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ RSV?

ในปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ดังนั้นจึงเน้นการป้องกัน โดยการเพิ่มภูมิต้านทานธรรมชาติ โดยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด หรือพาเด็กไปเยี่ยมผู้ป่วย มาตรการสำคัญในการป้องกันการระบาดของโรค คือ การหมั่นล้างมือให้สะอาด หรือใช้เจลแอลกอฮอลล์ลูบมือบ่อยๆ ไม่ควรให้เด็กอยู่ร่วมกัน แยกเด็ก แยกของเล่นเด็ก เมื่อมีเด็กป่วย สงสัยว่ามีการติดเชื้อ หากเป็นไปได้ควรให้ผู้ปกครองมารับกลับบ้าน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0-27340000 ต่อ 3310, 3312, 3319

  • Readers Rating
  • Rated 4.5 stars
    4.5 / 5 (15 )
  • Your Rating