บทความสุขภาพ

เมื่อหนูปัสสาวะรดที่นอน

Share:

ในยามดึกที่ลูกนอนหลับใหล แล้วน้ำอุ่นๆ ก็ไหลออกมาจนเปียกแฉะที่นอน ใช่!! ลูกปัสสาวะรดที่นอน ปัญหาหนึ่งที่คนเป็นพ่อเป็นแม่สุดกลุ้ม เพราะนอกจากสปกรก เลอะเทอะ จนต้องทำความสะอาดแล้ว หากยังบ่งบอกถึงความสามารถในการกลั้นปัสสาวะของลูกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ASTVผู้จัดการ ได้ พญ.สินดี จำเริญนุสิต กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก มาช่วยตอบข้อสงสัยของคุณพ่อคุณแม่กัน

Q : ปัญหานี้น่าหนักใจหรือไม่

A : เนื่องจากภาวะปัสสาวะรดที่นอนขึ้นกับพัฒนาการของเด็ก ดังนั้นจะน่าหนักใจหรือไม่ขึ้นกับอายุของเด็ก สำหรับทารกการปัสสาวะรดที่นอนเป็นเรื่องธรรมดาเป็นปฏิกิริยาสะท้อน (reflex) คือยังคุมไม่ได้เลย เด็กก็จะปัสสาวะบ่อยประมาณ 20 ครั้งต่อวัน หลังอายุ 6 เดือนปริมาณปัสสาวะต่อครั้งเพิ่มขึ้น แต่ความถี่ของการปัสสาวะลดลง อายุ 1-2 ขวบการควบคุมกระเพาะปัสสาวะทำได้มากขึ้นเริ่มบอกได้ว่าปวดฉี่ เพียงแต่จะยังกลั้นไม่ได้ โดยเฉพาะช่วง กลางคืนยังดื่มนมเยอะ ก็จะปัสสาวะรดที่นอนได้ ส่วนใหญ่ก็จะประมาณคืนละ 1-2 ครั้ง ต่อมาเด็กอายุ 3-4 ขวบเด็กต้องเริ่มกลั้นได้ ส่วนใหญ่ เกิน 70% เด็กจะหยุดปัสสาวะรดที่นอนได้แล้ว ความชุก พบร้อยละ 15 ของเด็กอายุ 5 ปี ร้อยละ 3-5 ของเด็กอายุ 10 ปี และร้อยละ 1 ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่

Q : จะทราบได้อย่างไรว่าการฉี่รดที่นอนของลูกไม่ใช่เรื่องปกติแล้ว

A : ส่วนใหญ่แล้วดูที่อายุเป็นหลักเช่นกัน คือ เด็ก 6 ปีขึ้นไปถ้ายังปัสสาวะรดที่นอนอยู่เป็นประจำ ไม่ใช่นานทีปีหน ก็ถือว่าผิดปกติ ส่วนเด็กเล็กที่อายุ 3-4 ปีแม้ว่าจะปกติ แต่ถ้าปัสสาวะกลางคืนบ่อยจริงๆ เราก็จะแก้ไขโดย

ช่วงก่อนนอนประมาณ 2 ชม. ให้หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหรือนมมากๆรวมถึงอาหารทั่วไปด้วย เด็กบางคนที่ตื่นสาย ก็อาจจะปัสสาวะรดที่นอนตอนช่วงเช้าได้ ก็ลองปลุกมาเข้าห้องน้ำแล้วค่อยนอนต่อก็ได้ ที่สำคัญคือ ไม่ควรลงโทษเด็ก เพราะจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาได้เพราะเด็กไม่ได้แกล้งทำแต่เกิดจากพัฒนาการของเขาเอง

Q : สาเหตุการปัสสาวะรดที่นอนมีอะไรบ้าง

A : 1. พัฒนาการล่าช้า กลไกควบคุมการปัสสาวะอาศัยพัฒนาการของทั้งระบบประสาท sympathetic, parasympathetic และ somatic nerve เด็กทั่วไปสามารถควบคุมการปัสสาวะตอนกลางคืนได้เมื่ออายุ 3 ปี

2. ปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน ที่ชื่อว่า ADH ปกติจะมีหน้าที่ทำให้ร่างกายผลิดน้ำปัสสาวะน้อยลงในตอนกลางคืน หากร่างกายผลิตฮอร์โมนนี้ไม่พอก็จะทำให้ร่างกายผลิตน้ำปัสสาวะมากตอนนอน

3. ปัญหาจากการทำงานของกระเพาะปัสสาวะบางคนมีการหดรัดตัวของกระเพราะปัสสาวะไม่ดีหรือมีความจุน้อย ทำให้เกิดปัญหาปัสสาวะรดที่นอนได้ โดยเฉพาะในเด็ก

4. พันธุกรรม เด็กทั่วไปมีโอกาสเกิดภาวะปัสสาวะรดที่นอนร้อยละ 15 แต่เด็กที่พ่อหรือแม่มีประวัติ มีโอกาสเป็นร้อยละ 44 และเด็กที่ทั้งพ่อและแม่มีประวัติมีโอกาสสูงถึงร้อยละ 77 นอกจากนี้ยังพบว่าประมาณหนึ่งในสามของพ่อและหนึ่งในห้าของแม่ของเด็กที่ปัสสาวะรดที่นอน เคยมีประวัติในวัยเด็ก

5. การนอนผิดปกติ พบว่า สัมพันธ์กับกลุ่มอาการหยุดหายใจขณะหลับและโรคหลับลึก (narcolepsy) ด้วย

6. โรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน ท้องผูก และการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

7. ปัจจัยด้านจิตสังคม เด็กส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรม แต่ก็พบว่าเป็นโรคทางจิตเวชอื่นมากกว่าเด็กทั่วไป บางคนอาจมีปัญหาด้านอารมณ์หรือพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากอาการปัสสาวะรดที่นอนมากกว่าเป็นสาเหตุ เช่น เป็นการต่อต้านพ่อแม่ที่ฝึกขับถ่ายปัสสาวะด้วยความรุนแรงหรือการฝึกเร็วเกินไป หรือแสดงถึงพฤติกรรมที่เป็นเด็กกว่าวัยจากการเลี้ยงดูอย่างปกป้องและตามใจมากเกินไป ในบางราย มักเกิดภายหลังมีเรื่องตึงเครียด เช่น การหย่าร้างของพ่อแม่ ปัญหาเรื่องโรงเรียน การรักษาในโรงพยาบาล และการถูกละเมิดทางเพศ เป็นต้น

8.เด็กผู้ชายจะปัสสาวะรดที่นอนมากกว่าเด็กผู้หญิง ประมาณ 2 เท่า โดยผู้ป่วยมีโอกาสหายได้เองร้อยละ 15 ต่อปี

Q : มีวิธีการแก้ไขอย่างไร

A : 1. งดอาหารและเครื่องดื่มในช่วงเวลา 1-2 ชั่วโมงก่อนนอน โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำอัดลมบางชนิด และชาเขียว เป็นต้น เครื่องดื่มเหล่านี้มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบประมาณ 10 มก./100 มล. และคาเฟอีนขนาด 2 มก./กก. จะมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ

2. การจูงใจให้เด็กมีความต้องการควบคุมการปัสสาวะรดที่นอนด้วยตนเอง พูดถึงผลดีที่จะเกิดขึ้นตามมา เช่น สามารถไปนอนนอกบ้านหรือเข้าค่ายกับเพื่อนได้โดยไม่ต้องกังวลใจ รวมทั้งความรู้สึกมั่นใจในตนเอง ให้ปัสสาวะก่อนเข้านอนทุกคืน

3. เน้นให้การฝึกเป็นความรับผิดชอบของเด็กเอง ตั้งแต่ให้บันทึกอาการปัสสาวะรดที่นอนด้วยตนเองลุกขึ้นมาปัสสาวะเองถ้ารู้สึกปวดปัสสาวะ และให้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนหรือทำความสะอาดเสื้อผ้าและผ้าปูที่นอน

4. งดการปลุกขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืน เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยหยุดปัสสาวะรดที่นอนได้ช้ากว่าไม่ปลุก และมักทำให้เกิดความขัดแย้งกับพ่อแม่ได้มากกว่า

5. ไม่ควรอุ้มเด็กไปเข้าห้องน้ำทั้งที่ยังหลับ เพราะกลายเป็นการฝึกเด็ก ให้ปัสสาวะทั้งๆที่หลับ จริงๆ ควรพยายามที่จะเตือนและบอกลูกก่อนนอนว่า ให้ตื่นขึ้นมาปัสสาวะในห้องน้ำ โดยคุณอาจจะเปิดไฟในห้องน้ำรอไว้ให้ลูกเลยหรือคุณอาจจะเตรียมกระโถนไว้ให้ข้างเตียง

6. ใช้หลักพฤติกรรมบำบัด คือให้แรงเสริมทางบวก โดยใช้วิธีทำตารางดาว คือ วันไหนที่ลูกไม่ปัสสาวะรดที่นอน ควรให้คำชมและให้รางวัล ด้วยการติดสติ๊กเกอร์ที่ปฏิทิน โดยติดให้ตรงกับวันที่ลูกไม่ปัสสาวะรดที่นอน เพื่อดูว่ามีพัฒนาการดีขึ้นในแต่ละเดือนหรือไม่ และพิจารณาให้รางวัลที่มีคุณค่ามากขึ้นถ้าผู้ป่วยควบคุมการปัสสาวะรดที่นอนได้มากขึ้นในแต่ละสัปดาห์ที่ผ่านไป

Q : มีคำแนะนำอย่างไรสำหรับคนที่ยังไม่เห็นผล

A : ปัญหานี้เด็กมักจะต้องการความเห็นอกเห็นใจ ไม่ชอบการถูกต่อว่า คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายให้คนในบ้านเข้าใจ และเห็นใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และไม่ควรปล่อยให้มีการล้อเลียน จนเกิดการทะเลาะวิวาทกัน โดยทั่วไปอาการปัสสาวะรดที่นอนในเด็กอายุ 5-7 ปี ยังไม่มีผลกระทบด้านจิตสังคมของเด็กมากนัก แต่ในกรณีที่เด็กอายุมากกว่า 7-8 ปี แล้วยังไม่หยุดปัสสาวะรดที่นอนควรพาเด็กไปปรึกษากุมารแพทย์

พญ.สินดี จำเริญนุสิต
กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก

โดย…

http://www.manager.co.th/