บทความสุขภาพ

ระวัง!!!รองเท้าหัวแหลมอาจทำให้นิ้วหัวแม่เท้าผิดรูป

Share:

เท้าเป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้เป็นประจำทุกวัน เป็นอวัยวะที่รับน้ำหนักตัวทั้งหมดของร่างกาย เคยก้มสำรวจเท้าของตัวเองกันบ้างหรือไม่ ว่าเท้าที่ใช้เดิน วิ่ง ออกกำลังกาย และก้าวไปกับเราในทุกๆวันนั้นมีความปกติหรือผิดปกติอย่างไร รูปร่างผิดรูปที่ควรจะเป็นหรือไม่ มีความเจ็บปวดเท้าเวลาเดิน ลงน้ำหนักเท้า หรือสวมใส่รองเท้าบ้างหรือไม่  ซึ่งหากมีความรู้สึกหรือรูปร่างที่กล่าวมานั้นอาจเป็นลักษณะอาการของ “ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงผิดรูป” (Hallux Valgus)

ภาวะของนิ้วหัวแม่เท้าเอียงผิดรูป (Hallux Valgus) หรือภาวะนิ้วโป้งเท้าเกว่า เป็นลักษณะความผิดปกติของนิ้วหัวแม่เท้าเอียงเข้าหานิ้วชี้ และมีกระดูกหัวแม่เท้าทางด้านในนูนออกมา ในระยะแรกอาจไม่มีอาการผิดปกติ ผู้ป่วยอาจสังเกตเห็นนิ้วเท้าเอียงไม่สวยงาม  บางรายอาจพบว่ามีอาการปวดด้านในของนิ้วหัวแม้เท้า หากสังเกตที่เท้าจะมีลักษณะเหมือนมีปุ่มกลมๆนูนออกมาทางด้านข้างของบริเวณข้อนิ้วหัวแม่เท้า เมื่อนิ้วเท้าเอียงจะทำให้แรงดึงในเส้นเอ็นต่างๆ ของนิ้วเท้าผิดแนวไป จึงเป็นส่งผลให้เกิดการผิดรูปและเกิดความเจ็บปวดในการเดิน การลงน้ำหนักที่เท้า และการสวมใส่รองเท้าตามมา ซึ่งภาวะแบบนี้สามารถพบได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็กหรือวัยผู้ใหญ่

สาเหตุของนิ้วเท้าเอียงผิดรูป

ปัจจุบันพบว่าเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน เช่น

  1. การมีโครงสร้างเท้าผิดปกติ เช่น ภาวะอุ้งเท้าแบน การมีข้อนิ้วเท้าหลวม การมีรูปร่างของกระดูกหัวแม่เท้าผิดปกติ การมีกระดูกนิ้วเท้าชิ้นหนึ่งที่ยาวผิดปกติ มีการเอียงของกระดูกนิ้วหัวแม่เท้า เป็นต้น
  2. ความผิดปกติของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น เช่น การมีเนื้อเยื่อหุ้มข้อที่หลวม การอักเสบของข้อในผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง (Rheumatoid Arthritis) มีการอักเสบจนทำให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นผิดปกติ
  3. กรรมพันธุ์
  4. การสวมใส่รองเท้าไม่เหมาะสม เช่น รองเท้าที่บีบรัดปลายเท้า รองเท้าหัวแหลม ซึ่งจะพบได้บ่อยในผู้หญิงวัยกลางคนขึ้นไป ที่นิยมใส่รองเท้าส้นสูง

ด้วยสาเหตุดังกล่าวจะส่งผลให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และนิ้วเท้าเกิดการผิดรูป มีอาการปวดตรงบริเวณนิ้วเท้า และมักเจ็บปวดมากขึ้นขณะสวมใส่รองเท้า เดิน วิ่ง และลงน้ำหนัก

วิธีการรักษาภาวะนิ้วเท้าเอียงผิดรูป

โดยทั่วไปแบ่งการรักษาเป็น 2 วิธี คือการรักษาโดยวิธีการผ่าตัด และ ไม่ผ่าตัด สำหรับคนไข้ที่มีอาการไม่มาก อาจเลือกรักษาโดยการไม่ผ่าตัดได้ เช่น การปรับเปลี่ยนรองเท้าที่มีหน้ากว้างขนาดพอดีกับเท้า พื้นรองเท้านิ่ม หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูง หรือการตัดแผ่นรองเท้าเพื่อเสริมอุ้งเท้าในผู้ป่วยที่มีภาวะเท้าแบนหรือมีข้อนิ้วเท้าหลวม เพื่อลดอาการปวดเวลาเดิน รวมไปถึงการนวดการยืด แช่เท้าในน้ำอุ่นหรือประคบด้วยความเย็นก็ช่วยให้อาการปวดลดลงได้เช่นกัน แต่จากการศึกษายังไม่พบว่าการรักษาโดยไม่ผ่าตัดจะสามารถทำให้นิ้วเท้ากลับมาตรงได้เหมือนเดิม ดังนั้นในรายที่มีอาการปวดมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ก็อาจจึงจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดจะมีมากมายหลายวิธีซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีการผ่าตัดให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละรายต่างกันไปตามลักษณะความผิดปกติของกระดูกนิ้วหัวแม่เท้า เช่น การตัดก้อนที่นูนออก การตัดกระดูกเพื่อเปลี่ยนแนวให้ตรงขึ้น การเชื่อมข้อ เป็นต้น โดยทั่วไปจำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไขทั้งในส่วนการเย็บซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่หลวม และการปรับจัดแนวกระดูกให้กลับมาใกล้เคียงกับแนวปกติ

ทั้งนี้ หากไม่ต้องการให้เกิดภาวะเท้าเอียงผิดรูป ควรหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงหรือรองเท้าที่บีบตรงส่วนหัวมากและส่วนปลายรองเท้าแคบเพราะจะทำให้นิ้วเท้าเกยกันในขณะสวมใส่รองเท้าและเดิน วิ่ง เคลื่อนไหวในท่าทางต่างๆได้ไม่สะดวก

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-7340000 ต่อ 2298 , 2299 

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (4 )
  • Your Rating