นายแพทย์ภัทร โฆสานันท์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า กระดูกเชิงกรานประกอบด้วยกระดูก 3 ชิ้น คือกระดูกก้นกบ (Sacrum) กระดูกสะโพก (Ilium) ด้านซ้ายและขวา ซึ่งกระดูกเชิงกรานจะทำหน้าที่เชื่อมระหว่างกระดูกสันหลังซึ่งเป็นแกนกลางของร่างกายกับกระดูกรยางค์ คือกระดูกสะโพกและขาทั้ง 2ข้าง
อาการปวดกระดูกจากกระดูกเชิงกรานแตกหรือหัก
กระดูกเชิงกรานแตกหรือหัก โดยมากมักเกิดจากอุบัติเหตุที่มีความรุนแรง เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ พลัดตกจากที่สูง ได้รับแรงกระแทกโดยตรงบริเวณสะโพกหรือเชิงกราน แต่ในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน อุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้กระดูกเชิงกรานแตกหักได้ง่าย โดยสามารถสังเกตอาการปวดจากภาวะกระดูกเชิงกรานแตกหรือหักได้ ดังนี้
- ปวดกระดูกเชิงกรานเวลานั่งในบางท่า
- ปวดกระดูกเชิงกรานจนไม่สามารถขยับสะโพกได้
- กระดูกเชิงกรานหรือสะโพกผิดรูป
- มีรอยแผลหรือรอยฟกช้ำชัดเจนบริเวณสะโพกและกระดูกเชิงกราน
- มีอาการบาดเจ็บร่วมของระบบทางเดินปัสสาวะหรืออวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน จนทำให้เกิดอาการชาบริเวณรอบทวารหนัก หรือมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ
- เส้นประสาทบริเวณเอวส่วนล่างและก้นกบบาดเจ็บ บางรายอาจรุนแรงไปถึงการเสียชีวิตเนื่องจากเสียเลือดปริมาณมาก
หลังเกิดอุบัติเหตุแล้วกระดูกเชิงกรานหักต้องปฏิบัติตัว ดังนี้
- ให้ผู้ป่วยขยับตัวน้อยที่สุด จนกว่าทีมช้วยเหลือจะมาถึง เพื่อป้องกันกระดูกที่หักเคลื่อนและทำให้อวัยวะข้างเคียงบาดเจ็บเพิ่ม
- หากมีบาดแผลให้ใช้ผ้าสะอาดปิดบริเวณปากแผล
- ถ้าผู้ป่วยพอที่จะขยับตัวได้ ให้ขยับตัวช้า ๆ เพื่ออยู่ในท่าทางที่ผู้ป่วยเจ็บปวดน้อยที่สุด
- หากไม่แน่ใจว่ามีกระดูกหักหรือไม่ ไม่ควรนวดหรือดัดร่างกาย
- ประคบเย็นบริเวณที่มีอาการปวดกระดูก บวม หรือฟกช้ำ
การวินิจฉัยภาวะกระดูกเชิงกรานหัก
สำหรับการตรวจวินิจฉัยภาวะกระดูกเชิงกรานหัก ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดปวดกระดูกนายแพทย์ภัทรบอกว่า สามารถใช้การเอกซเรย์ร่วมกับ CT scan ซึ่งแนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับบริเวณที่แตกหักและความรุนแรง การรักษาสามารถทำได้ตั้งแต่นอนพักจนกว่ากระดูกจะสมานตัว ไปจนถึงการผ่าตัดเพื่อใส่โลหะยึดกระดูก สำหรับข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคือกระดูกที่แตกหักไม่มีความมั่นคงพอที่จะรับน้ำหนักหรือขยับเคลื่อนไหวได้, กระดูกที่แตกหักอยู่ในภาวะผิดรูปรุนแรง, กระดูกแตกหักเข้าไปในส่วนของข้อต่อสะโพกและทำให้เกิดความไม่เรียบของผิวข้อ, มีอวัยวะอื่นบาดเจ็บร่วมด้วย เช่น ลำไส้ ทางเดินปัสสาวะ หลอดเลือด หรือเส้นประสาท
ซึ่งหลังการผ่าตัดใส่โลหะยึดกระดูกโดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยสามารถขยับร่างกายได้ตามปกติทันที แต่ต้องระมัดระวังในการลงน้ำหนักขาข้างที่บาดเจ็บประมาณ 6 – 12 สัปดาห์
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 0 2734 0000 ต่อ 5500, 5550
- Readers Rating
- Rated 4.1 stars
4.1 / 5 (Reviewers) - Excellent
- Your Rating