บทความสุขภาพ

H.pylori เชื้อแบคทีเรียร้ายก่อหลายโรคในกระเพาะ

Share:

เชื้อแบคทีเรียร้ายก่อหลายโรคในกระเพาะ

ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ในทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร หรือโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าทำไมการติดเชื้อในแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนก่อให้เกิดโรคร้ายแรงแต่บางคนกลับไม่มีอาการ ซึ่งเชื้อโรคชนิดหนึ่งที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุก่อให้เกิดหลายโรคในกระเพาะอาหาร คือ Helicobacter pylori หรือชื่อที่เราคุ้นเคยคือ H.pylori เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่พบได้ในกระเพาะอาหาร พบว่าประชากรกว่าครึ่งหนึ่งในโลกตรวจพบเชื้อชนิดนี้ แต่ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการแสดงของโรคปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ H.Pylori อาจติดต่อโดยการทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ ผ่านเข้าไปในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นที่เรียกว่า Duodenum เป็นลำไส้เล็กส่วนแรกสุดของทางเดินอาหารที่รับอาหารต่อจากกระเพาะ โดยเชื้อจะเข้าไปปล่อยเอนไซม์และสารพิษต่างๆ ซึ่งมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้กรดในกระเพาะอาหารรวมถึงน้ำย่อยต่างๆ ทำลายเนื้อเยื่อกระเพาะและลำไส้เล็กรุนแรงขึ้น จนก่อให้เกิดการอักเสบแบบเรื้อรังทั้งกระเพาะและลำไส้เล็กส่วนต้น

อาการของเชื้อ H.pylori

ผู้ติดเชื้อจะมีอาการแตกต่างกันไป ตั้งแต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการรุนแรง ไปจนถึงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยอาการที่พบได้บ่อยของแผลในกระเพาะอาหาร ได้แก่ อาการปวด หรือแน่น โดยเเฉพาะด้านบนของช่องท้อง อาการท้องอืดแน่น เรอ หรือมีลมแน่น รับประทานอาหารได้น้อยลง อิ่มเร็วขึ้น หรืออาการแน่นหลังจากรับประทานแม้ทานไม่มาก ไม่อยากอาหาร คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายอุจจาระสีดำ อาการเพลีย หรืออาการที่มีผลจากภาวะโลหิตจาง เนื่องจากเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร
ผู้ป่วยกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังบางราย อาจมีเนื้อเยื่อของกระเพาะอาหารผิดปกติได้ แต่ก็มีบางส่วนที่อาจเปลี่ยนเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารจากการติดเชื้อ H.pylori

ทดสอบการติดเชื้อ H.pylori โดยไม่ต้องส่องกล้อง มีหลายวิธี ได้แก่

  • เจาะเลือดตรวจ โดยวินิจฉัยหาโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในเลือดเรียกว่า “antiesbodies” เป็นโปรตีนที่เป็นภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะต่อเชื้อ H.pylori
  • ตรวจการติดเชื้อจากลมหายใจ โดยจะให้รับประทานสารพิเศษ ซึ่งจะแตกตัวเมื่อมีเชื้อ H.pylori ในกระเพาะอาหาร ทำให้สามารถตรวจพบค่าความผิดปกติได้จากลมหายใจ
  • ทดสอบการติดเชื้อโดยการตรวจอุจจาระ เป็นการทดสอบหาโปรตีนจากเชื้อ H.pylori โดยตรงจากอุจจาระ

เมื่อไหร่ที่ต้องตรวจหาการติดเชื้อ H.pylori

แนะนำให้ตรวจเมื่อผู้ป่วยมีอาการน่าสงสัยว่าอาจมีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ที่เคยมีประวัติติดเชื้อมาก่อน หรืออาจตรวจในผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร รวมถึงผู้ที่มีความกังวลว่าอาจเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะคนเชื้อสายจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งพบว่ามีอุบัติการณ์ของมะเร็งกระเพาะอาหารค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะพบการติดเชื้อ H.pylori ได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร แต่ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารก็ไม่ได้มาจากการติดเชื้อ H.pylori ทุกคน โดยสาเหตุสำคัญอีกประการที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารคือ ยา เช่น ยาในกลุ่ม aspirin, ibuprofen, naproxen เป็นต้น

แนวทางการรักษา

สำหรับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ที่ตรวจพบแผลในกระเพาะอาหารร่วมกับการตรวจพบเชื้อ H.pylori พร้อมๆ กัน การกำจัดเชื้อจะช่วยรักษาแผล และยังช่วยป้องกันการเกิดแผลซ้ำ อีกทั้งลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากแผล เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร
การรักษาแนะนำว่าต้องใช้ยามากกว่า 3 ชนิดในการกำจัดเชื้อ เพื่อให้ได้ผลหายขาดมากกว่าร้อยละ 90 และต้องใช้ยาฆ่าเชื้ออย่างน้อยสองชนิดเพื่อลดโอกาสดื้อยา โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาให้ครบและต่อเนื่องตลอดการรักษา แพทย์จะใช้ยาหลายๆ ชนิดในการกำจัดเชื้อ H.pylori ใช้เวลาประมาณ 7-14 วัน และอาจพิจารณาใช้ยาลดกรดกลุ่มหนึ่งที่ชื่อ proton pump inhibitor หรือ PPI มีผลช่วยลดการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้เนื้อเยื่อที่ถูกทำลายจากการติดเชื้อหายเป็นปกติ เช่น lansoprazole, omeprazole pantoprazole, rabeprazole และ esomeprazole เป็นต้น

ผลข้างเคียงของการรักษา

โดยทั่วไปจะพบผลข้างเคียงจากยาประมาณร้อยละ 50 แต่ส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก และน้อยกว่าร้อยละ 10 ที่ต้องหยุดยา ซึ่งยาที่พบว่ามีผลข้างเคียงบ่อย ได้แก่ metronidazole และ clarithromycin ยาเหล่านี้ทำให้เกิดรสขมเหมือนเหล็กในปาก สำหรับผู้ที่รับประทานยา metronidazole และดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิดผื่นผิวหนัง ปวดศรีษะ คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออก และหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ส่วนผู้ที่ได้รับยา Bismuth อาจทำให้อุจจาระมีสีดำกว่าปกติ และยาเกือบทุกตัวอาจทำให้มีอาการปวดท้องหรือถ่ายเหลวได้
สำหรับผู้ที่สงสัยว่าอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับระบบทางเดินอาหาร หรือคนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ควรตรวจหาความเสี่ยง หรือตรวจสุขภาพประจำปี เพราะเป็นการป้องกันโรคร้ายได้ดีที่สุด

สอบถามเพิ่มเติมที่ ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ

โทร. 0-2734-0000 ต่อ 2960,2961,2966

  • Readers Rating
  • Rated 4.8 stars
    4.8 / 5 (3 )
  • Your Rating