การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนพื้นผิวข้อเข่าที่สึกหรอด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น โลหะ พลาสติก หรือเซรามิก โดยทั่วไปแล้วการผ่าตัดจะประสบความสำเร็จและช่วยลดอาการปวด ทั้งยังปรับปรุงการทำงานของข้อเข่า อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับการผ่าตัดอื่น ๆ ก็อาจพบกับความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนได้เช่นกัน
การติดตามอาการหลังผ่าตัดข้อเข่าเทียมเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะไม่มีอาการเจ็บปวดก็ตาม แต่ผู้ป่วยควรเข้าพบแพทย์ตามนัดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อที่ข้อเข่าเทียม หรือตรวจพบความผิดปกติของข้อเข่าเทียมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ดังนั้น การตรวจติดตามอาการตามคำแนะนำของแพทย์จึงจำเป็นต่อการดูแลข้อเข่าในระยะยาว
ปัญหาสำคัญหลังการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมที่พบได้บ่อย
ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแล้ว ควรระมัดระวังในประเด็น ดังนี้
- การติดเชื้อ : การติดเชื้อหลังการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมเป็นภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ แม้จะมีโอกาสพบได้ใน 1-2%
- ข้อเข่าหลวม : ข้อเข่าหลวมอาจเกิดขึ้นได้เมื่อเวลาผ่านไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวมาก หรือจากการใช้งานข้อเข่าอย่างหนัก
- ข้อเข่ายึดติด : ภาวะที่ข้อเข่าไม่สามารถงอเข่าหรือเคลื่อนไหวข้อเข่าได้ตามปกติ
ปัจจัยสำคัญ 3 ประการสำหรับการผ่าตัดเข่าครั้งแรกให้ประสบความสำเร็จ
- การเตรียมตัวของผู้ป่วย : ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำในการเตรียมตัวทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดอย่างเคร่งครัด
- ชนิดของข้อเข่าเทียม : การเลือกชนิดข้อเข่าเทียมที่เหมาะสมกับผู้ป่วย เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของการผ่าตัด โดยต้องมีคุณภาพได้รับการรับรองมาตรฐาน
- ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ : การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม เป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อน ศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดต้องมีความรู้ ความชำนาญ รวมถึงประสบการณ์และเทคนิคการผ่าตัดที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการวางตำแหน่งของข้อเทียมที่ถูกต้องเหมาะสมและจัดวางความตึงของเนื้อเยื่อและเส้นเอ็นรอบข้อเข่าได้อย่างสมดุล
การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม เป็นวิธีการรักษาอาการข้อเข่าเสื่อมที่มีประสิทธิภาพ ช่วยบรรเทาอาการปวดและเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อเข่า แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งอาการที่ผู้ป่วยควรทราบหากเกิดขึ้นหลังผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม เพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว มีดังนี้
- อาการปวดข้อเข่าเรื้อรังหลังจากการผ่าตัด โดยทั่วไปจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ แต่หากผู้ป่วยยังรู้สึกปวดข้อเข่าขณะพักและเคลื่อนไหวข้อเข่าต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจบ่งบอกถึงปัญหาหลังการผ่าตัด เนื่องจากมีการอักเสบของข้อเข่าและเยื่อหุ้มข้อเข่า
- อาการไข้ ซึ่งอาจจะเกิดการติดเชื้อหลังการผ่าตัดเข่า
การผ่าตัดแก้ไขการติดเชื้อหลังเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
การผ่าตัดแก้ไขการติดเชื้อหลังเปลี่ยนข้อเข่าเทียม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ และสภาพของข้อเข่าเทียม
1. การผ่าตัดล้างข้อเข่าและรักษาการติดเชื้อ
หากสงสัยว่า อาจจะมีอาการติดเชื้อจากภาพถ่ายเอกซเรย์, ผลการตรวจเลือด, ผลการตรวจน้ำในข้อเข่าทางห้องปฏิบัติการ แต่ข้อเข่าเทียมยังไม่หลวมหรือมีการเปลี่ยนตำแหน่งของข้อเข่าเทียม กรณีนี้แพทย์จะทำการผ่าตัดเปิดผิวข้อเข่า และล้างทำความสะอาดข้อเข่า จากนั้นจึงให้ยาปฏิชีวนะต่อประมาณ 2-4 สัปดาห์
2. การผ่าตัดถอดข้อเข่าเทียมที่ติดเชื้อและใส่อุปกรณ์ชั่วคราว
หากพบว่า มีการติดเชื้อ โดยมีผลตรวจเลือดและผลตรวจน้ำข้อเข่าว่ามีลักษณะการติดเชื้อร่วมกับมีการหลวมหรือเปลี่ยนตำแหน่งของข้อเข่าเทียมจากภาพเอกซเรย์ แพทย์จะต้องทำการผ่าตัดล้างอาการติดเชื้อ เช่น หนอง และ เนื้อเยื่อที่มีการอักเสบออก จากนั้นนำเอาข้อเข่าเทียมที่ใส่ครั้งแรกออกทั้งหมด และใส่ตัวชั่วคราว (Antibiotic Cement Spacer) ซึ่งมีทั้งแบบเคลื่อนไหวข้อเข่าได้ และแบบที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อเข่าได้ หลังจากนั้นให้ยาปฏิชีวนะต่อประมาณ 4-6 สัปดาห์ และแพทย์จะตรวจดูว่า ผลเลือดที่เราติดตามการติดเชื้อมีค่าลดลงสู่ภาวะปกติหรือยัง จึงจะทำการผ่าตัดอีกครั้งเพื่อใส่ข้อเข่าเทียมใหม่เข้าไป
อย่างไรก็ตาม ต้องรักษาการติดเชื้อให้หายสนิทก่อนเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดปัญหาจากการติดเชื้อของข้อเข่าเทียม ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดหลายครั้ง ดังนั้น เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวที่ดี ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และเข้ารับการตรวจติดตามอาการตามที่นัดหมายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพของผู้ป่วยในระยะยาว
ระยะพักฟื้น
สำหรับระยะการพักฟื้นหลังการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมในกรณีที่ไม่มีการติดเชื้อ ผู้ป่วยสามารถลุกยืนและเดินได้ภายใน 12 ชั่วโมง และใช้งานข้อเข่าใกล้เคียงธรรมชาติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย
การดูแลหลังผ่าตัด
การดูแลหลังการผ่าตัดเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัวที่ดี โดยทั่วไปแพทย์จะกำหนดตารางเวลาเพื่อติดตามอาการดังนี้
- สัปดาห์ที่ 1 : ตรวจติดตามอาการทั่วไปหลังผ่าตัด
- สัปดาห์ที่ 2 : ตรวจประเมินแผลผ่าตัดและสังเกตสัญญาณการติดเชื้อ
- 1 เดือน, 3 เดือน, 6 เดือน และ 1 ปี หลังผ่าตัด : ตรวจติดตามการฟื้นตัวและประเมินการทำงานของข้อเข่าเทียมเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะเริ่มแรก
สุดท้ายนี้ ผู้ป่วยที่จะต้องรับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม มีข้อควรพิจารณาเพื่อใช้ประกอบในการผ่าตัดคือผู้ป่วยควรเตรียมร่างกายให้พร้อม มีโรคประจำตัวอย่างไรต้องรักษา เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เช่น ถ้ามีโรคเบาหวานก็ต้องรักษาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม พิจารณาเลือกใช้ข้อเข่าเทียมที่ได้มาตรฐาน และแพทย์ชำนาญการด้านการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมที่มีประสบการณ์
สำหรับผู้ที่มีปัญหาเข่าเสื่อม สามารถปรึกษาได้ที่ ศูนย์ฟื้นฟูข้อเสื่อม ชั้น 1 อาคาร King of Bones โรงพยาบาลเวชธานี เรามีทีมแพทย์ชำนาญการ พร้อมให้การตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย และบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายแพทย์ล่วงหน้าได้ที่ โทร. 02-734-0000 ต่อ 2222, 2224
- Readers Rating
- Rated 4.9 stars
4.9 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating