บทความสุขภาพ

“ไซนัสอักเสบเรื้อรัง” อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

Share:

หากมีอาการคัดจมูกไม่หาย น้ำมูกข้นสีเขียวหรือสีเหลือง ไอติดต่อกันหลายสัปดาห์ ปวดหัว ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไซนัสอักเสบ ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ หากไม่รีบมารักษาอาจทำให้เป็นโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้

นายแพทย์บรรณวัชร ตันติคุณ โสต ศอ นาสิกแพทย์เฉพาะทางด้านโรคจมูกและภูมิแพ้ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า  โรคไซนัสอักเสบเป็นโรคที่เกิดการอักเสบติดเชื้อของโพรงอากาศในจมูก ซึ่งปกติโพรงไซนัสจะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 คู่  ได้แก่ บริเวณหน้าผาก บริเวณระหว่างหัวตา บริเวณโหนกแก้มข้างจมูก และบริเวณฐานกะโหลก โดยการอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้กับไซนัสทุกตำแหน่ง 

ไซนัสอักเสบจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดาหรือโรคภูมิแพ้ แต่จะมีอาการรุนแรงและยาวนานมากกว่า เช่น คัดจมูก น้ำมูกข้นเขียวหรือเหลือง , เสมหะไหลลงคอ กระตุ้นให้เกิดการไอบ่อย, หายใจมีกลิ่นเหม็น, ปวดหัว หรือปวดขมับ หรือปวดบริเวณรอบๆ จมูกหรือหัวคิ้ว และหน้าผาก,  ในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีไข้สูง ตาบวมอักเสบ เป็นต้น 

ไซนัสอักเสบ แบ่งเป็น 3 ชนิด ดังนี้

  1. ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (Acute  Sinusitis) เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย  ทำให้เกิดการอักเสบ มีเสมหะมากขึ้น คัดจมูก  จะมีอาการไม่เกิน 4 สัปดาห์ 
  2. ไซนัสอักเสบชนิดกึ่งเฉียบพลัน (Subacute) คือ โรคไซนัสอักเสบที่มีอาการตั้งแต่ 4 ถึง 12 สัปดาห์
  3. ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (chronic sinusitis) เป็นการอักเสบเรื้อรังที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ โดยจะมีอาการเรื้อรังมานานกว่า 12 สัปดาห์ มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ 

สาเหตุการเกิดโรคไซนัสอักเสบมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น เกิดขึ้นหลังจากอาการไข้หวัด เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะในรายที่เป็นหวัดแล้วไม่พักผ่อนอย่างเพียงพอ, โรคภูมิแพ้ ทำให้เยื่อบุภายในช่องจมูกและไซนัสบวม เป็นๆ หายๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน, ความผิดปกติในช่องจมูก เช่น ผนังกั้นจมูกคด หรือ กระดูกที่ผนังด้านข้างโพรงจมูกมีขนาดใหญ่มาก จนไปอุดตันรูเปิดของไซนัส และโรคริดสีดวงจมูก หรือเนื้องอกในโพรงจมูก

ภาวะแทรกซ้อนจากไซนัสอักเสบ

  • มีผลทางตา ทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ ตาอักเสบ เช่น ตาบวม เจ็บตา กลอกตาแล้วเจ็บ มองเห็นภาพซ้อนหรือ เห็นภาพไม่ชัด เป็นต้น
  • ทางสมอง โดยมีอาการปวดหัว มีอาการคลื่นไส้อาเจียน มองเห็นภาพซ้อนหรือ เห็นภาพไม่ชัด กล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมกับไข้สูง
  • มีผลต่อเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง เกิดการอักเสบในหูชั้นกลางทำให้หูอื้อ เยื่อบุลำคออักเสบ กล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง 

การวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย การส่องกล้องตรวจโพรงจมูกและไซนัส ส่วนในกรณีที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังที่ต้องทำการผ่าตัด หรือในผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยการทำ CT สแกนหรือเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัย หรือบอกความรุนแรงของโรค 

การรักษาไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่มักจะรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ ยาลดบวมของเยื่อจมูก  โดยแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะระยะเวลาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและชนิดของเชื้อก่อโรค ส่วนไซนัสอักเสบเรื้อรังแพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยสเตียรอยด์พ่นจมูกหรือใช้น้ำเกลือล้างจมูก แต่ถ้ารักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดไซนัส นิยมผ่าตัดผ่านทางจมูกโดยใช้กล้อง Endoscope ทำให้แพทย์เห็นบริเวณผ่าตัดได้ชัดเจน สามารถตัดเนื้อเยื่อที่อักเสบออก เนื่องจากเป็นการผ่าตัดผ่านรูจมูกจึงไม่มีแผลผ่าตัดที่ผิวหนัง และเป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัย ทำให้ผู้ป่วยเลือดออกน้อย เจ็บแผลน้อย สามารถหายใจทางจมูกได้ดี ฟื้นตัวเร็ว

ทั้งนี้การดูแลตัวเองเมื่อเป็นไซนัสอักเสบ ต้องเริ่มจากการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังสม่ำเสมอ งดการสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มน้ำวันละ7-8 แก้ว หลีกเลี่ยงฝุ่นและพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิฉับพลัน เช่น จากร้อนมากไปเย็นจัดในทันทีทันใด  หากมีอาการมากขึ้นควรรีบพบแพทย์ รับประทานยา และติดตามการรักษาสม่ำเสมอ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์หู คอ จมูก
โทร. 02-734-0000 ต่อ 3400

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (2 )
  • Your Rating