รู้หรือไม่! ผู้หญิงมักจะมีความเสี่ยงในการเกิด “โรคนิ้วหัวแม่เท้าเก” มากกว่าผู้ชายถึง 13 เท่า เนื่องจากวัยทำงานจำเป็นต้องใส่รองเท้าหนังในการทำงานเป็นระยะเวลานานถึง 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้มีอาการปวดด้านในของนิ้วหัวแม่เท้า หากสังเกตที่นิ้วหัวแม่เท้าจะมีลักษณะเหมือนมีปุ่มกลม ๆ นูนออกมาทางด้านข้างของบริเวณข้อนิ้วหัวแม่เท้า ส่วนบางรายสามารถเห็นได้ชัดว่านิ้วหัวแม่เท้าเบี้ยวผิดรูปไปจากปกติ
สำหรับสาเหตุหลัก ๆ ที่พบได้บ่อยคือ “การสวมใส่รองเท้าไม่เหมาะสม” เช่น รองเท้าที่บีบรัดปลายเท้า รองเท้าหัวแหลม พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยกลางคนขึ้นไปที่นิยมใส่รองเท้าส้นสูง เมื่อใส่เป็นเวลานาน ๆ ก็จะดัดให้เท้าผิดรูปถาวรได้ นอกเหนือจากปัจจัยที่พบได้บ่อย อันเนื่องจากสาเหตุมาจาก “รองเท้า” แล้ว โรคนิ้วหัวแม่ท้าเกยังเกิดได้จากปัจจัยอื่น ๆ อาทิ
- โครงสร้างเท้าผิดปกติ เช่น ภาวะอุ้งเท้าแบน การมีข้อนิ้วหัวแม่เท้าหลวม การมีรูปร่างของกระดูกหัวแม่เท้าผิดปกติ การมีกระดูกนิ้วหัวแม่เท้าชิ้นหนึ่งที่ยาวผิดปกติ มีการเอียงของกระดูกนิ้วหัวแม่เท้า เป็นต้น
- ความผิดปกติของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น เช่น การมีเนื้อเยื่อหุ้มข้อที่หลวม การอักเสบของข้อในผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง (Rheumatoid Arthritis) มีการอักเสบจนทำให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นผิดปกติได้
- กรรมพันธุ์
หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดมากขึ้นขณะสวมใส่รองเท้า เดิน วิ่ง และลงน้ำหนัก ควรรีบมาพบแพทย์ สำหรับคนที่มีอาการไม่มาก อาจเลือกรักษาโดยการไม่ผ่าตัดได้ เช่น การปรับเปลี่ยนรองเท้าที่มีหน้ากว้างขนาดพอดีกับเท้า ควรเลือกรองเท้าที่ไม่คับ หัวรองเท้าไม่บีบ หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูง หรือแพทย์จะให้ใส่อุปกรณ์พยุงนิ้วหัวแม่เท้าไม่ให้เป็นมากขึ้นโดยใช้ซิลิโคนคั่นนิ้วหัวแม่เท้า ร่วมกับรับประทานยาเพื่อลดอาการอักเสบ
แต่หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามข้างต้นแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้นและยังกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จะประเมินวางแผนการรักษาด้วยการผ่าตัดแก้ไขปัญหานิ้วเท้าเกผิดรูปต่อไป
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์กระดูกและข้อ
โทร. 02-734-0000 ต่อ 2298
- Readers Rating
- Rated 5 stars
5 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating