ข้อไหล่เป็นส่วนที่มีการเคลื่อนไหวบ่อยครั้งในแต่ละวันจากการทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ซึ่งผลจากการใช้งานมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยและหายไปเองได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่ามีอาการปวดไหล่เรื้อรังเป็นเวลานาน อาจเป็นสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด
สาเหตุของอาการปวดไหล่
● พฤติกรรมการนั่งทำงาน
คนวัยทำงานเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะมีอาการปวดไหล่มากที่สุด ซึ่งอาจเกิดจากการนั่งทำงานเป็นเวลานานบนเก้าอี้ที่ไม่เหมาะสมกับสรีระร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอและไหล่มีอาการเกร็งจนทำให้รู้สึกปวดเมื่อย รวมไปถึงการนั่งพิมพ์งานในท่าเดิมซ้ำ ๆ ก็ส่งผลให้เกิดอาการเมื่อยล้าบริเวณหัวไหล่และลามไปจนถึงแขนได้ด้วยเช่นกัน ในบางรายอาจรู้สึกว่าอาการปวดนั้นทวีความรุนแรงขึ้นในตอนกลางคืน ทำให้รู้สึกเจ็บเมื่อล้มตัวลงนอน
● ออกกำลังกายหักโหม
สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ในบางครั้งการออกกำลังกายหักโหมหรือไม่ยืดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่เกิดการบาดเจ็บ และอาจกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการรักษา
● อุบัติเหตุในชีวิตประจำวันหรือการเล่นกีฬา
บางครั้งอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างการหกล้มหรือการเดินชนสิ่งกีดขวางก็อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้ รวมไปถึงผู้ที่เล่นกีฬาอาจมองว่าการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรืออาการปวดไหล่เป็นเรื่องปกติ และอาการบาดเจ็บเหล่านั้นจะหายได้เองจึงหลีกเลี่ยงการพบแพทย์ จนเกิดอาการปวดไหล่เรื้อรังที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันในที่สุด
ปวดไหล่แบบนี้ ไม่ดีแน่นอน
อาการปวดไหล่ไม่ใช่แค่การอักเสบของกล้ามเนื้อและสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการนวดคลายกล้ามเนื้อหรือใช้ยาทาภายนอก แต่ถ้ามีอาการปวดเรื้อรังนานหลายสัปดาห์และเริ่มมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณว่าไม่ใช่การปวดไหล่ธรรมดาที่ต้องรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาโดยทันที
- มีอาการปวดเรื้อรังนานกว่า 1 เดือน และปวดรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
- บริเวณหัวไหล่บวมและอักเสบ
- รู้สึกชาทั่วทั้งแขน
- ไม่สามารถยกแขนหรือเอามือไพล่หลังได้ตามปกติ
- มีเสียงผิดปกติเมื่อขยับแขน
- แขนและไหล่ผิดรูป
- มีไข้และเบื่ออาหาร
การรักษาอาการปวดไหล่
● รักษาด้วยการใช้ยาร่วมกับการทำกายภาพบำบัด
ในผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าอาการไม่รุนแรงมาก สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาแก้ปวดและยาลดการอักเสบ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ซึ่งสามารถทำเองได้ที่บ้านหรือเข้ารับการทำกายภาพบำบัดด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมทั้งพักการใช้งานแขนเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อ
● รักษาด้วยการผ่าตัด
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น เส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ที่จะช่วยให้แผลมีขนาดเล็กเพียง 1 เซนติเมตรเท่านั้น ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและใช้เวลาพักฟื้นไม่นานก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยหลังจากผ่าตัด 1-2 วัน ผู้ป่วยก็สามารถเริ่มทำกายภาพได้ทันทีเพื่อฟื้นฟูข้อไหล่ จากนั้นเมื่อกลับบ้านแล้วจะต้องใส่ที่คล้องแขนเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์เพื่อให้เส้นเอ็นสมานกันอย่างสมบูรณ์
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการปวดไหล่
- หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถในระหว่างที่นั่งทำงาน และใช้เก้าอี้ที่เหมาะกับสรีระ
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายแบบหักโหม ยืดกล้ามเนื้อทุกครั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย
- เพิ่มความระมัดระวังในการใช้ชีวิตประจำวันและการเล่นกีฬาทุกชนิด
- หากรู้สึกมีอาการปวดไหล่แม้เพียงเล็กน้อย ให้รีบบรรเทาด้วยการประคบเย็นหรือประคบร้อน และพักการใช้ไหล่ในข้างที่ปวด
หากมีอาการปวดไหล่เรื้อรังอย่าปล่อยไว้ สามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์ได้ที่ ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี อาคาร King of Bones ชั้น 2 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร 02-734-0000 ต่อ 2298,2299 ทุกวันจันทร์ – อาทิตย์ เวลา 08.00 – 20.00 น.