บทความสุขภาพ

1 ใน 5 ของผู้สูงอายุที่ล้มแล้วสะโพกหักและไม่ผ่าตัดรักษา มักจะเสียชีวิตภายใน 1 ปี

Share:

ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุที่ล้มแล้วสะโพกหักด้วยการผ่าตัดรักษาภายใน 24 ชั่วโมง ช่วยลดโอกาสเป็นผู้ป่วยติดเตียงและการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่นำไปสู่การเสียชีวิต

ผู้สูงอายุที่หกล้มแล้วกระดูกสะโพกหักและไม่ได้รับการผ่าตัดรักษาอย่างทันท่วงที มักจะกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง เกิดภาวะแทรกซ้อน และเสียชีวิตในที่สุด โดยจากสถิติพบว่า 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุที่หกล้มสะโพกหักจะเสียชีวิตใน 1 ปีหลังเกิดเหตุ ซึ่ง นายแพทย์ธนรัตน์ เหรียญเจริญ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า กระดูกสะโพกเป็นกระดูกที่มีส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหว ดังนั้น เมื่อกระดูกสะโพกแตก หัก รวมถึงข้อสะโพกหลุด ก็จะทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้น้อยลงหรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เลยเพราะเกิดความเจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน หรือแม้แต่ลุกนั่ง จนสุดท้ายกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง เกิดแผลกดทับบริเวณสะโพกและก้น ซึ่งความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการขับถ่าย นำมาซึ่งปัญหาลำไส้ไม่ทำงาน มีปัญหาท้องผูก ทางเดินปัสสาวะอักเสบและมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้ นอกจากนี้ การไม่เคลื่อนไหวของผู้ป่วยจะยังส่งผลทำให้ปอดไม่ขยายตัว ก่อให้เกิดภาวะปอดอักเสบและติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ด้วย ยิ่งในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอย่างเช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ก็จะยิ่งทำให้โรคกำเริบได้ง่ายหรือหนักขึ้นได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยสะโพกหักมีโอกาสเสียชีวิตเร็วขึ้น

“มีผู้ป่วยสะโพกหักจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ภายใน 3 เดือนหลังเกิดเหตุ ดังนั้น การเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งผู้ป่วยสะโพกหักที่ไม่ได้มีข้อจำกัดหรือข้อห้ามในการผ่าตัด แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้หรือภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ หรืออาการบาดเจ็บที่อาจรุนแรงขึ้น โดยการผ่าตัดรักษาสะโพกหักในปัจจุบันไม่ได้น่ากลัวเหมือนในอดีต ทั้งเทคโนโลยีที่นำมาใช้ เทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็ก รวมถึงความชำนาญของแพทย์และทีมบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ผู้ป่วยสามารถลุกยืนเดินได้ใน 6 – 12 ชั่วโมงหลังผ่าตัด ระยะเวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลสั้นลงและสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกติได้เร็วขึ้น โดยส่วนใหญ่มักจะเดินได้ดีภายใน 12 สัปดาห์”

นายแพทย์ธนรัตน์กล่าว

นายแพทยธนรัตน์ยังแนะนำว่า ในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยจำเป็นต้องจัดระเบียบที่อยู่อาศัยให้มีความปลอดภัย ไม่มีจุดเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น เพิ่มแสงสว่างให้เพียงพอ ไม่วางสิ่งของกีดขวางทางเดิน อาจแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เป็นต้น

ส่วนปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจทำให้ผู้สูงอายุกระดูกหักง่ายอย่างภาวะโรคกระดูกพรุน ก็จำเป็นต้องได้รับการตรวจวัดมวลกระดูกเพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาด้วยยาหรือกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกให้มากขึ้นได้ ทั้งนี้ หากผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุหรือล้มแล้วกระดูกสะโพกหัก จะมีอาการปวดรุนแรงบริเวณสะโพก มีรอยฟกช้ำ บวม หรือรู้สึกขัดบริเวณสะโพก ไม่สามารถยืนหรือลงน้ำหนักที่ขาได้ ขาข้างที่สะโพกหักจะสั้นลงหรือผิดรูป สำหรับการช่วยเหลือนั้นให้โทรเรียกรถพยาบาลทันที และไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเองเพราะอาจทำให้การบาดเจ็บรุนแรงกว่าเดิมได้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์ฟื้นฟูข้อเสื่อม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 2222 , 2224

  • Readers Rating
  • Rated 4.8 stars
    4.8 / 5 (9 )
  • Your Rating