บทความสุขภาพ

เข้าใจการทำรากฟันเทียมใน 5 Steps

Share:

รากฟันเทียม

การสูญเสียฟันแท้ เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจากการถอนฟัน จากอุบัติเหตุ หรือจากฟันผุจนรักษารากฟันไม่ได้ ทำให้มีปัญหาในการบดเคี้ยวอาหารและเสียความมั่นใจ ดังนั้น “รากฟันเทียม” จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษา

รากฟันเทียม คือ วัสดุคล้ายรากฟันที่ผลิตขึ้นจากไทเทเนียม โดยจะฝังรากฟันเทียมลงในกระดูกขากรรไกร ก่อนที่จะมีการทำฟันเทียม ครอบฟัน หรือสะพานฟัน ทดแทนฟันที่สูญเสียไป โดยไม่ต้องใส่ฟันปลอม หากดูแลรักษาเป็นอย่างดีก็สามารถอยู่ได้นานเป็นหลายสิบปี โดยมีขั้นตอนการดังต่อไปนี้ 

1. X-ray  และตรวจสุขภาพช่องปาก เพื่อวางแผนการรักษา

ในขั้นตอนแรก ทันตแพทย์จะทำการตรวจสุขภาพช่องปากของคนไข้ โดยจะทำการ X-ray เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม และสามารถออกแบบการฝังรากเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาถึงฟันข้างเคียง ตำแหน่งเส้นประสาท ความแข็งแรงของมวลกระดูก ตำแหน่งของขากรรไกร รวมถึงสุขภาพช่องปากอื่น ๆ

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ต้องอาศัยความชำนาญของทันตแพทย์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยและแม่นยำมาเป็นตัวช่วย เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดียิ่งขึ้น

2. เตรียมช่องปากให้พร้อม

การทำรากฟันเทียมไม่สามารถทำได้ หากว่ายังมีปัญหาเรื่องช่องปากอยู่ อย่างเช่น โรคเหงือก ซึ่งหากคนไข้มีปัญหาเรื่องสุขภาพช่องปาก จะต้องนัดหมายเพื่อทำการรักษา ก่อนที่จะใส่รากฟันเทียม 

นอกจากนี้ หากพบว่าขากรรไกรมีลักษณะที่เตี้ยเกินไป หรือมีโพรงอากาศอยู่ใกล้มากเกินไป ทันตแพทย์อาจจะตัดสินใจทำการเสริมกระดูก หรือในกรณีที่มวลกระดูกไม่แข็งแรงก็อาจจะต้องปลูกถ่ายกระดูกใหม่ เพื่อให้ช่องปากแข็งแรงเพียงพอที่จะรับฟันใหม่ได้

3. ผ่าตัดฝังตัวรากเทียม

หลังจากเตรียมช่องปากพร้อมแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการผ่าตัดเพื่อติดตั้งตัวรากเทียมลงไป โดยทันตแพทย์จะทำการเปิดเหงือกแล้วเจาะรูบริเวณกระดูกในตำแหน่งที่กำหนดไว้ จากนั้นติดตั้งรากฟันเทียมลงไป แล้วทำการเย็บปิดแผล

จากนั้น เป็นช่วงที่ร่างกายต้องการการพักฟื้น เพื่อให้รากฟันใหม่สมานเข้ากับกระดูกขากรรไกร เป็นกระบวนการที่ร่างกายจะตอบสนองกับรากฟันเทียม และสร้างรากฐานที่ใกล้เคียงกับฟันจริง ซึ่งระหว่างนี้อาจทันตแพทย์อาจนัดติดตามผล ก่อนที่จะใส่ฟันปลอมในลำดับต่อไป 

4. ทำครอบฟันหรือฟันเทียม

เมื่อรากฟันเทียมสมานเข้าไปกับกระดูกและเหงือกแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการทำครอบฟันหรือติดตั้งฟันเทียม ซึ่งฟันที่ใส่จะมีขนาดและรูปร่างคล้ายกับฟันซี่เดิมที่หลุดไป เพื่อให้พอดีกับช่องว่างในปาก และสามารถทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ จนกลายเป็นเหมือนฟันแท้ซี่ใหม่อย่างสมบูรณ์

5. ติดตามผลการรักษา

แม้ว่าทุกอย่างจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ทันตแพทย์จะนัดหมายเพื่อติดตามประสิทธิภาพของรากฟันเทียม ว่าสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือมีข้อบกพร่องอะไรที่ต้องแก้ไขหรือไม่ หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ก็จะเว้นระยะการนัดหมายและแนะนำการดูแลช่องปากตามปกติ 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการทำรากฟันเทียมจะมีความแข็งแรงและสามารถทำหน้าที่ได้เทียบเท่ากับฟันแท้ แต่ก็ต้องระมัดระวังและดูแลรักษาอย่างดี และพยายามไม่ใช้งานฟันซี่ดังกล่าวหนักเกินไป โดยเฉพาะในระยะแรก 

หากท่านใดสนใจการทำรากฟันเทียม โรงพยาบาลเวชธานีมีประสบการณ์การทำรากฟันเทียมมากกว่า 25 ปี โดยทันตแพทย์เฉพาะทางมากกว่า 15 ท่าน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์ทันตกรรมและรากฟันเทียม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 3000, 3004

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (1 )
  • Your Rating