บทความสุขภาพ

“เนื้อแดง – เนื้อแปรรูป” ไม่ว่าเมนูไหน ก็เสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่

Share:

ใครจะรู้ว่าอาหารที่เรารับประทานอยู่ทุกวัน จะแฝงไปด้วยปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะอาหารแปรรูปที่ผ่านการหมัก รมควัน หรือกระบวนการต่าง ๆ ที่เพิ่มรสชาติหรือถนอมอาหาร เช่น เบคอน ไส้กรอก แหนม ลูกชิ้น หมูยอ และกุนเชียง เป็นต้น โดยอาหารเหล่านี้มีสารเคมี ไนโตรซามีน (nitrosamine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อมีการสะสมในร่างกายจะทำปฏิกิริยากับปัจจัยอื่นในร่างกาย เช่นการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร หรือสารอื่นที่ร่างกายได้รับผ่านทางอาหาร ส่งผลให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้

ในปัจจุบันร้านอาหารแนวบุฟเฟต์ กลายเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะแนวปิ้งย่างและชาบู แต่รู้หรือไม่ การรับประทานเนื้อแดงไม่ว่าจะเป็น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ หรือเนื้อแพะ ที่ถูกประกอบอาหารในความร้อนสูงจนเกรียมแบบปิ้งย่าง หรือถูกประกอบอาหารในความร้อนสูงแบบต้ม ก็มีความเสี่ยงเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ เนื่องจากการนำเนื้อแดงไปประกอบอาหารในความร้อนสูง จะทำให้เกิดสารสารโพลีไซคลิกอโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAH) และสารเฮเทอโรไซคลิกอโรมาติกเอมีน (HAA) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง

เป็นที่น่าสนใจว่าความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น เพิ่มขึ้นตามปริมาณเนื้อแดงที่รับประทาน โดยพบว่าการรับประทานเนื้อแดงปริมาณ 100 กรัมต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น 17% และการรับประทานเนื้อแปรรูปปริมาณ 50 กรัมต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากถึง 18 %

เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่าอาหารปิ้งย่างจะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้เพียงอย่างเดียว แต่การรับประทานเนื้อแดง หรือเนื้อแปรรูป ในวิธีประกอบอาหารอื่น ๆ ก็สามารถเป็นปัจจัยเสี่ยงได้เช่นกัน

นายแพทย์สุกิจ ภัทรเจียรพันธุ์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลเวชธานี แนะนำว่า การรับประทานเนื้อแดงและเนื้อแปรรูปในปริมาณที่เหมาะสมประมาณ 50-100 กรัมต่อวัน พยายามรับประทานโปรตีนจากแหล่งอื่น เช่น ไข่ เต้าหู้ และถั่ว ทดแทนเนื้อแดงและเนื้อแปรรูป และให้เพิ่มการรับประทานผักผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อแดงและเนื้อแปรรูป เป็นพฤติกรรมที่ปรับเปลี่ยนกันค่อนข้างยาก เนื่องจากเป็นวิถีชีวิตประจำวันที่เคยชิน เพราะฉะนั้นคนที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เสี่ยง หรือคนที่มาอายุมากกว่า 50 ปี ควรได้รับการตรวจส่องกล้องทางลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เพื่อหาความผิดปกติในลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยเฉพาะติ่งเนื้อที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ในอนาคต โดยเทคโนโลยีการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ในปัจจุบัน สามารถตรวจพบติ่งเนื้อได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ แม้ว่าติ่งเนื้อนั้นจะมีขนาดเล็กเพียง 2 มิลลิเมตร หรือขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว และเมื่อมีการตรวจพบติ่งเนื้อจากการส่องกล้องลำไส้ใหญ่แล้ว แพทย์สามารถทำการตัดติ่งเนื้อออกได้ทันทีอย่างปลอดภัยด้วยเทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ เพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ทั้งนี้ ในผู้ป่วยที่มีติ่งเนื้อที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ไปแล้วในระยะต้นบางคน ยังสามารถใช้เทคโนโลยีการผ่าตัดส่องกล้องในการรักษาได้ ซึ่งจะไม่มีแผลผ่าตัดภายนอก มีภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าการผ่าตัดใหญ่ และใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นน้อย ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการผ่าตัดส่องกล้องรักษานี้ต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์ศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลเวชธานี

โทร. 02-734-0000 ต่อ 2715, 2716

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (11 )
  • Your Rating