ปัญหาการสบฟันผิดปกติ ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อการบดเคี้ยวอาหารเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงระบบย่อยอาหาร ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารตามมาได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในอีกหลากหลายด้าน ปัจจุบันการผ่าตัดขากรรไกร ถูกนำมาใช้ในการแก้ปัญหาให้กับผู้ที่มีฟันสบกันผิดปกติที่มีสาเหตุจากการเจริญที่ไม่สมดุลกันของกระดูกขากรรไกร โดยรักษาร่วมกับการจัดฟัน เพื่อสุขภาพช่องปากและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ความผิดปกติของกระดูกขากรรไกร สามารถพบได้ตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นระหว่างการเจริญเติบโตของร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลให้มีการบดเคี้ยวอาหาร และพูดออกเสียงที่ลำบาก หรืออาจทำให้มีอาการนอนกรน หรือมีอาการหยุดหายใจขณะนอนหลับได้ (Sleep Apnea) อีกทั้งอาจทำให้เกิดความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร (TMJ disorder) ได้ เช่น มีอาการปวดที่ข้อต่อขากรรไกร หรือเกิดความเสื่อมของเนื้อเยื่อยึดข้อต่อขากรรไกรได้
การรักษาความผิดปกติของกระดูกขากรรไกร จะใช้ 2 วิธีร่วมกันได้แก่ การจัดฟัน เพื่อปรับให้ฟันอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง เหมาะสม และการผ่าตัดแก้ไขกระดูกขากรรไกร เพื่อให้กระดูกอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยอาจผ่าตัดเพียงแค่ขากรรไกรเดียว (one jaw surgery) หรืออาจผ่าตัดทั้งกระดูกขากรรไกรบนและล่าง (two jaws surgery) เพื่อให้คนไข้มีการกัดสบฟัน การเคี้ยว การพูดการออกเสียง และการหายใจที่เป็นปกติหรือดีขึ้น ซึ่งการผ่าตัดนี้อาจทำร่วมกับการผ่าตัดอวัยวะบริเวณข้างเคียง เช่น คาง กราม โหนมแก้ม ปาก หรือจมูก ส่งผลให้เกิดความสวยงามของโครงสร้างใบหน้าร่วมด้วย
ลำดับการรักษาสามารถทำได้ทั้งแบบจัดฟันก่อนผ่าตัด หรือแบบผ่าตัดก่อนจัดฟัน ซึ่งการรักษาดั้งเดิม ส่วนใหญ่จะรักษาแบบจัดฟันก่อนผ่าตัด เพื่อแก้ไขความผิดปกติของฟันก่อน ระยะเวลาการจัดฟันขึ้นอยู่กับความยากง่ายซับซ้อนของคนไข้แต่ละราย โดยเฉลี่ยประมาณ 2 – 4 ปี ในระหว่างนี้อาจทำให้คนไข้รู้สึกว่าใบหน้ามีการเปลี่ยนแปลงบ้าง เช่น รู้สึกว่าฟันล่างหรือฟันบนยื่น อูม หรือดูผิดรูปมากขึ้น เนื่องจากจุดประสงค์การจัดฟันก่อนนั้นเพื่อให้ฟันมีมุมการเอียงตัวที่ถูกต้องก่อนการผ่าตัด ฉะนั้นในคนไข้บางรายจึงมีความรู้สึกว่าขากรรไกรล่างยื่นมากขึ้น หลังจากนั้นจึงส่งผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติของกระดูกขากรรไกรบนและล่าง หรือขากรรไกรใดขากรรไกรหนึ่งที่มีความผิดปกติ และหลังผ่าตัดเสร็จคนไข้จะต้องมีการจัดฟันต่อ เพื่อปรับการเรียงตัวและการสบฟันอีกระยะหนึ่ง ตั้งแต่ 6 เดือน – 1 ปี หลังการผ่าตัดเพื่อให้การกัดสบฟันนั้นเหมาะสมและคงที่ จึงถอดเครื่องมือจัดฟันได้
แต่ในปัจจุบัน เริ่มมีการนำวิธีการรักษาแบบผ่าตัดกระดูกขากรรไกรก่อนแล้วจึงจัดฟันมารักษาคนไข้มากขึ้น ซึ่งวิธีนี้มีข้อดีคือ ลดระยะเวลาในการจัดฟัน เนื่องจากใช้ทฤษฎีของกระบวนการการเกิดการอักเสบจากการผ่าตัดจะช่วยกระตุ้นการเคลื่อนที่ของฟันได้เร็วขึ้น จึงลดระยะเวลาในการจัดฟันทั้งหมด เหลือประมาณ 10 เดือน – 2 ปี ตามความยากง่ายของความผิดปกติในแต่ละราย และข้อดีที่เป็นผลพลอยได้ที่สำคัญอีกประการคือ ผู้ป่วยจะมีการเปลี่ยนแปลงของรูปหน้าให้เหมาะสมสวยงามขึ้นได้ตั้งแต่ก่อนการจัดฟัน และทำให้สภาพของสุขภาพช่องปากดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีไหนก็ตาม ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและการวางแผนการรักษาด้วยแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงควรมีการตรวจและวางแผนร่วมกันก่อนการรักษา โดยทีมแพทย์ทั้งผ่าตัดและจัดฟัน
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์ทันตกรรม แและรากฟันเทียม โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 3000 , 3004
- Readers Rating
- Rated 4.9 stars
4.9 / 5 (Reviewers) - Spectacular
- Your Rating