บทความสุขภาพ

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคที่มาพร้อมกับอาการปวด

Share:

อาการปวดคอ ปวดหลัง และอีกหลายอาการปวดตามร่างกาย ไม่ว่าจะเกิดจากการก้มหน้าเล่นสมาร์ตโฟน นั่งทำงานต่อเนื่องยาวนานหรือการยกของหนัก อาจเป็นอาการปวดทั่ว ๆ ไปที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่มีอาการปวดคอ ปวดหลัง แล้วร้าวลงแขน มือ ขาหรือเท้า ร่วมกับอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุและมีความรุนแรงหลายระดับ รวมถึงการแสดงอาการของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทก็แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของข้อกระดูกสันหลังที่เป็น

สาเหตุของการเกิดอาการกระดูกทับเส้นประสาท

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท หรือที่คนทั่วไปมักเรียกสั้น ๆ ว่าหมอนรองกระดูกทับเส้น เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังแตกและปลิ้นออกไปกดทับเส้นประสาท ซึ่งหมอนรองกระดูกสันหลัง (Intervertebral Disc) แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

  1. ส่วนที่อยู่บริเวณศูนย์กลางจะมีลักษณะอ่อนนุ่มคล้ายเจลลี่
  2. ส่วนที่อยู่โดยรอบ มีลักษณะเหนียวและหนาคล้ายเอ็น
  3. ส่วนที่ยึดติดกับข้อกระดูกสันหลัง มีลักษณะคล้ายกระดูกอ่อน

ซึ่งทั้ง 3 ส่วนจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก ทำหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนไหวและรับแรงกระแทกของกระดูกสันหลัง หากกระดูกสันหลังถูกใช้งานหนัก ใช้งานผิดท่า รับน้ำหนักมากเกินไป เกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง หรือแม้แต่ความเสื่อมตามอายุ ก็อาจทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังแตกและปลิ้นไปกดทับเส้นประสาท ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลัง ปวดสะโพก ร้าวลงขาหรือเท้า รวมทั้งมีอาการชาและอ่อนแรงร่วมด้วย หรือบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นควบคุมการขับถ่ายลำบาก


อาการของหมอนรองกระดูกทับเส้น

อาการกระดูกทับเส้นประสาท ส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายส่วน ดังนี้

อาการปวดที่หลัง

หากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทเกิดที่บริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่าง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังบริเวณเอว สะโพก และมักปวดร้าวลงขา แต่ถ้าหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเกิดที่บริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดคอและร้าวลงแขนหรือปลายมือ

กล้ามเนื้ออ่อนแรงและชา

เมื่อเส้นประสาทถูกกดทับด้วยหมอนรองกระดูกสันหลังจะทำให้มีความผิดปกติในการทำงานของเส้นประสาท ส่งผลให้เกิดอาการชา หรืออ่อนแรงของแขน มือ ขา หรือ เท้าได้

ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้

ในบางรายที่มีการกดทับไขสันหลังรุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อการควบคุมการขับถ่าย


ระดับความรุนแรงของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

ระยะแรกเริ่ม

เมื่อหมอนรองกระดูกสันหลังเริ่มมีความเสื่อม จะทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง โดยอาการปวดในช่วงแรกอาจจะเป็น ๆ หาย ๆ ก่อนจะปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นความทรมาน

ระยะปานกลาง

เป็นระยะที่หมอนรองกระดูกเริ่มเคลื่อนหรือปลิ้นออกมากดเบียดเส้นประสาท จนเกิดอาการปวดร้าวจากคอไปถึงแขนหรือมือ หรือจากหลังไปถึงขาและเท้า รวมถึงอาจมีอาการชาร่วมด้วย

ระยะรุนแรง

เมื่อการกดทับเส้นประสาทรุนแรงขึ้น อาการปวด ชา และอ่อนแรงจะมากขึ้น จนเส้นประสาทเกิดการบาดเจ็บ และเสี่ยงต่อความพิการได้


วิธีการรักษาโรคกระดูกทับเส้นประสาท

ลดน้ำหนักและหลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง

สำหรับผู้ที่มีปัจจัยการเกิดโรคจากปัญหาน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ ควรเริ่มต้นการรักษาด้วยการลดน้ำหนักแบบถูกวิธีและปลอดภัย เพื่อไม่ให้ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทเป็นมากกว่าเดิม และควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อกระดูกสันหลัง

กายภาพบำบัด

อีกหนึ่งวิธีการรักษาที่ได้ผลและได้รับความนิยมสำหรับผู้ที่อาการหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทไม่รุนแรงคือการทำกายภาพบำบัด ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติอย่างรวดเร็ว โดยใส่อุปกรณ์พยุงหลังร่วมด้วย

ยา

หากมีอาการกระดูกทับเส้นประสาทในหลาย ๆ ส่วน จนเกิดอาการปวด การใช้ยาลดการอักเสบและยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นการรักษาเบื้องต้นตามอาการสามารถช่วยลดอาการปวดและอักเสบได้

ผ่าตัด

เมื่อใช้การรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการบ่งชี้ถึงความรุนแรงของโรค เช่น ขับถ่ายลำบาก หรือปวดจนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเพื่อรักษาโรคกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถช่วยให้การผ่าตัดกระดูกสันหลังมีความปลอดภัยและแม่นยำมากขึ้น ช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง เสียเลือดน้อย ลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วและลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลังไม่ควรปล่อยไว้ หรือไปรักษาด้วยวิธีผิด ๆ เพราะอาจบาดเจ็บมากขึ้น จนส่งผลให้การรักษาทางการแพทย์ทำได้ยากและใช้เวลานานขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อวินิจฉัยและรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นอย่างถูกวิธี


ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี
โทร: 0-2734 0000 ต่อ 5500

  • Readers Rating
  • Rated 3.3 stars
    3.3 / 5 (30 )
  • Your Rating