บทความสุขภาพ

ถ่ายเป็นเลือด บอกโรคอะไรได้บ้าง

Share:

ถ่ายเป็นเลือด อุจจาระของคนเรา อาจมีสีที่แตกต่างกันไป ตามลักษณะน้ำย่อย น้ำดี และอาหารที่รับประทาน แต่ทุกคนคงทราบดีว่ามันไม่ควรมีสีแดงหรือมีเลือดปน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีเลือดปนออกมา นั่นหมายความว่าคงมีอะไรสักอย่างในร่างกายที่ไม่ชอบมาพากล ซึ่งปัจจุบัน Google มักเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพที่เป็นที่นิยม แต่คำตอบที่ได้อาจทำให้เกิดความกังวลใจทั้งที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์

ทางเดินอาหารของคนเรา เริ่มตั้งแต่ปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และไปจบที่รูทวาร เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไหร่อุจจาระของเรามีเลือดปนออกมา แสดงว่ามีเลือดออกมาจากที่ใดที่หนึ่งในอวัยวะเหล่านี้

ในทางเดินอาหารส่วนต้น เช่น หลอดอาหาร หรือกระเพาะอาหาร จะค่อนข้างใกล้กับปากมากกว่า ดังนั้น ส่วนมากถ้ามีเลือดออก มักจะมีอาการแสดงเป็นการอาเจียนเป็นเลือดมากกว่าถ่ายเป็นเลือด ซึ่งในกรณีที่เลือดออกไม่มาก เลือดอาจเดินทางมาถึงทวารได้ แต่มักจะไม่เป็นสีแดงสดให้เห็นแล้วเพราะเลือดนั้นจะผ่านทางเดินอาหาร เจอน้ำย่อยต่าง ๆ จนกลายเป็นสีดำ ในทางการแพทย์เราเรียกอุจจาระปนเลือดลักษณะนี้ว่า เมเลน่า (Melena) แต่ถ้าเลือดออกเยอะจนถ่ายเป็นสีแดงสดได้ อาการมักจะหนัก

สำหรับการถ่ายอุจจาระที่มีเลือดแดงสดปนนั้น สาเหตุมักจะอยู่ในทางเดินอาหารส่วนปลาย ตั้งแต่ลำไส้เล็กมาจนถึงรูทวาร ปริมาณมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรอยโรคและความรุนแรง โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยของภาวะถ่ายเป็นเลือด มักมาจากความผิดปกติในลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

สาเหตุของเลือดที่ออกในลำไส้ใหญ่

คนทั่วไปอาจจะคุ้นเคยกับมะเร็งหรือเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ แต่จริงๆแล้วอุบัติการณ์ของเลือดออกจากมะเร็งกลับอยู่ที่อันดับ 3 ส่วนสองอันดับแรก คือ ภาวะลำไส้โป่งพองหรือกระเปาะลำไส้ใหญ่ (Diverticulosis) และภาวะเส้นเลือดบริเวณเยื่อบุลำไส้เจริญผิดปกติ(Angiodysplasia) อาการแสดงของทั้งสามโรค คือ คนไข้มักจะมาด้วยอาการถ่ายอุจจาระปนเลือดปริมาณมาก เลือดสีแดงสด โดยมักจะปนกับเนื้ออุจจาระออกมา แต่จะไม่มีอาการปวด ยกเว้นเลือดออกจากเนื้องอกส่วนปลายมาก ๆ อาจจะมีอาการปวดเบ่ง หรือถ่ายไม่สุดได้ โดยทั้งสามโรคมักเจอในผู้ป่วยสูงอายุ สำหรับโรคอื่น ๆ ของลำไส้ใหญ่ ที่มาด้วยเรื่องเลือดออกได้ แต่พบได้น้อยกว่า เช่น ภาวะลำไส้ขาดเลือด(Ischemic colitis) หรือภาวะลำไส้อักเสบ เป็นต้น การวินิจฉัยโรคในกลุ่มนี้มักจำเป็นต้องได้รับการตรวจพิเศษ โดยเฉพาะการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง หรือที่เรียกว่า Colonoscopy ซึ่งนอกจากจะช่วยในการวินิจฉัยแล้ว ยังสามารถเข้าไปรักษาและห้ามเลือดได้ด้วย

ส่วนสาเหตุที่เกิดจากบริเวณรูทวารหนัก อันดับหนึ่ง ที่ทุกคนรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดีก็คือ ริดสีดวงทวาร ซึ่งมักมีอาการคือเลือดออกสีแดงสด มักเกิดหลังถ่ายอุจจาระ โดยเลือดแยกกับอุจจาระชัดเจน บางรายอาจจะคลำได้ก้อนยื่นบริเวณรูทวาร โดยทั่วไปมักไม่ค่อยมีอาการปวด ยกเว้นริดสีดวงจะยื่นและบวมมาก สามารถเป็นได้ทุกอายุ มักสัมพันธ์กับภาวะท้องผูก ออกแรงเบ่งเยอะ และภาวะที่มีความดันในช่องท้องสูง เช่น การตั้งครรภ์ สำหรับภาวะอื่นๆที่ทำให้มีเลือดออกได้ เช่น โรคแผลที่ขอบทวารหนัก (Anal fissure) ติ่งเนื้อบริเวณรูทวาร หรือฝีคัณฑสูตร การวินิจฉัยโรคในกลุ่มนี้มักทำได้ไม่ยาก มักจะแยกได้จากประวัติ อาการของโรค และการตรวจร่างกายบริเวณทวารหนัก

ภาวะถ่ายอุจจาระปนเลือดสามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ แต่ทุกสาเหตุล้วนแล้วแต่ต้องการได้รับการรักษาหรือแก้ไข ซึ่งในหลาย ๆ โรค การเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะสามารถรักษาได้ด้วยวิธีแบบเจ็บน้อยได้ และได้ผลการรักษาค่อนข้างดี โอกาสหายขาดสูง โดยเฉพาะโรคที่ทุกคนกลัว เช่น โรคมะเร็ง นั่นเอง

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลเวชธานี
โทร. 02-734-0000 ต่อ 4500 , 4501

  • Readers Rating
  • Rated 3.5 stars
    3.5 / 5 (51 )
  • Your Rating