บทความสุขภาพ

ภัยเงียบ “กระดูกพรุน” อันตรายกว่าที่คิด

Share:

โรคกระดูกพรุน กลายเป็นปัญหาที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น จากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น นับเป็นภัยเงียบอย่างแท้จริง เนื่องจากผู้ป่วยไม่รู้ว่าตัวเองมีภาวะกระดูกพรุน เพราะไม่พบว่ามีอาการใดๆ จนกระทั่งล้มแล้วมีกระดูกหัก จึงรู้ว่าเป็นโรคกระดูกพรุน

กระดูกพรุนมีสาเหตุเกิดจากการสูญเสียมวลกระดูก ทำให้กระดูกเสียคุณสมบัติการรับน้ำหนัก กระดูกเปราะ หักง่าย บางคนอาจตัวเตี้ยลงมากกว่า 2 ซม.ต่อปี เนื่องจากกระดูกสันหลังโปร่งบาง และยุบตัวลงช้าๆ หรือบางคนมีอาการปวดหลังจากการล้ม หรือยกของหนัก
นพ.ประพันธ์ โกมลมาลย์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านการบาดเจ็บของกระดูก ประจำโรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า “ที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมีโอกาสเกิดกระดูกหักได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เพียงแค่มีแรงกระแทกเบาๆ จากการบิดเอี้ยวตัวอย่างทันทีทันใด ไอ จาม สะบัดมือแรงแล้วข้อมือหัก หรือลื่นล้ม ทำให้กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก หรือกระดูกสันหลังหักได้ง่าย ก่อให้เกิดความพิการหรือทุพพลภาพตามมา และคุณภาพชีวิตที่ด้อยลง

อาการที่พบได้คือปวดหลัง ซึ่งเกิดจากกระดูกบางมาเป็นเวลานาน อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีกระดูกสันหลังยุบตัว และจะทำให้หลังค่อมและเตี้ยลงได้ นอกจากกระดูกสันหลังแล้ว กระดูกอื่นๆ ที่ถูกทำลายมาก คือ ข้อมือและสะโพก”

เสี่ยงกระดูกหัก..จากโรคกระดูกพรุน

การเกิดกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนครั้งแรกนั้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดกระดูกหักครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ตามมา นำมาซึ่งความพิการ และการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
หากกระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุน อาจส่งผลร้ายตามมา คือ พิการถาวร หรือ ต้องใช้เครื่องช่วยพยุงในการเดิน และไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เหมือนก่อนกระดูกหัก ดังนั้นกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุน มีอันตรายสูงมาก ดังนั้นควรป้องกัน และรักษาภาวะกระดูกพรุนทันทีเมื่อทราบ

ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขไม่ได้

เพศหญิง เป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าและเร็วกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน หรือต้องผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง การสลายกระดูกจะเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศ จึงเริ่มสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเกิดกระดูกหักได้ถึง 40-50%

อายุ มวลกระดูกของคนเราหนาแน่นที่สุดเมื่ออายุประมาณ 30 ปี หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลงตามลำดับ ผู้หญิงที่อายุเกิน 65 ปี โอกาสเกิดกระดูกพรุน ยิ่งอายุยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น

นอกจากนี้ กรรมพันธุ์ ในครอบครัวที่พ่อหรือแม่มีโรคกระดูกพรุนแล้วมีกระดูกหัก ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วกระดูกหักด้วย และเชื้อชาติ ชาวต่างชาติที่มีผิวขาวและคนเอเชียมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนสูงมากกว่าเชื้อชาติผิวสี

การได้รับ ยาบางชนิด เป็นเวลานานทำให้มวลกระดูกบางลง เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, ผู้ป่วยโรค SLE หรือโรคพุ่มพวง ยาทดแทนไทรอยด์ ยาป้องกันการชัก และถ้าเคยกระดูกหัก โอกาสที่จะเกิดกระดูกหักเพิ่มสูงขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้

แอลกอฮอล์ การดื่มเหล้า เบียร์ หรือแม้แต่ไวน์ในปริมาณมากกว่า 3 ยูนิตต่อวัน ทำให้มีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนเร็วขึ้น บุหรี่ สารพิษนิโคตินเป็นตัวทำลายเซลล์สร้างมวลกระดูกทำให้กระดูกบางลง

ผอมเกินไป คนที่ผอมเกินไป ค่าดัชนีมวลกายน้อยกว่า 20 จะเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่า และมีความเสี่ยงกระดูกหักเพิ่มขึ้น 2 เท่าของคนรูปร่างปกติ

ขาดสารอาหาร การรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ นอกจากทำให้ร่างกายเสียสมดุลแล้วยังอาจขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างมวลกระดูก โดยเฉพาะแคลเซียม วิตามินดี และโปรตีน

ขาดการออกกำลังกาย คนไม่ออกกำลังกายมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าคนที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การรับประทานอาหาร ถ้าได้รับเกลือมากกว่า 1 ช้อนชาต่อวัน ชา กาแฟมากกว่า 3 แก้วต่อวัน น้ำอัดลมมากกว่า 4 กระป๋องต่อสัปดาห์ และทานโปรตีนมากกว่า 10-15% ในแต่ละมื้อของอาหาร มีความเสี่ยงกระดูกพรุนสูง เนื่องจากอาหารและเครื่องดื่มดังกล่าวจะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม ส่วนอาหารเค็มจัดและกาเฟอีนยังทำให้ร่างกายขับแคลเซียมมากขึ้นอีกด้วย

สุดท้ายคือ ความอ้วน น้ำหนักเยอะ ส่งผลให้เกิดแรงกระแทกเยอะ อีกทั้งไขมันไปขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมไปหล่อเลี้ยงกระดูก

วัยทอง คู่กับโรคกระดูกพรุน…

ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีเนื้อกระดูกน้อยกว่าผู้ชายประมาณ 10-30% และเมื่อหมดประจำเดือนจะมีการสลายของกระดูกมากถึงร้อยละ 3.5 ต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่มักจะหมดประจำเดือนเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไปหรือที่เรียกว่า วัยทอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลงทำให้เนื้อกระดูกเปราะ บาง มีผลทำให้กระดูกหักได้ง่ายๆ

การป้องกัน…

ผู้หญิงในวัยทอง ควรดูแลตัวเองให้มากกว่าปกติ ต้องลดความเครียด รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาตัวเล็กๆ ที่กินได้ทั้งตัว กุ้งแห้ง ถั่วแดง ผักคะน้า บรอกโคลี งาดำ กะปิ นม เต้าหู้แข็ง ฯลฯ ซึ่งเป็นสารหลักในการสร้างเนื้อกระดูก ทั้งนี้ ผู้หญิงที่หมดประจำเดือน การเสริมแคลเซียมไม่ได้ช่วยให้กระดูกแข็งแรง แต่ช่วยยับยั้งการเสื่อมสลายของกระดูกเท่านั้น และควรกินแคลเซียม ควบคู่กับวิตามินดีเสมอ (การกินแคลเซียมนานๆ อาจจะทำให้ท้องผูก) เพื่อช่วยในการดูดซึมได้ดีขึ้น โดยวิตามินดี มีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียม ร่างกายต้องการวิตามินดี วันละ 400-800 หน่วย

ที่สำคัญควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาทิตย์ละ 2-3 ครั้งๆละ1 ชั่วโมง แต่ควรเลือกประเภทกีฬาที่เหมาะสม ถ้าเจ็บเข่าข้อเสื่อมก็อย่าวิ่งหนักๆ ให้ขี่จักรยาน เดินเบาๆ บนลู่วิ่ง หรือ เดินเร็วรอบหมู่บ้านแทน เต้นรำ รวมทั้งรำมวยจีนก็เป็นกีฬาที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย (ส่วนการว่ายน้ำไม่ได้ช่วยส่งเสริมสำหรับผู้ป่วยกระดูกพรุน) เพราะการออกกำลังกาย จะช่วยลดการสลายของแคลเซียมจากกระดูกได้ด้วย และช่วยรักษาสมดุลเรื่องการทรงตัวให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ควรงดการสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และพยายามป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการหกล้ม การป้องกันโรคกระดูกพรุนนั้นไม่ใช่เรื่องของผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ต้องเริ่มตั้งแต่ช่วงที่ยังเด็ก เพื่อลดโอกาสเกิดโรคดังกล่าวในอนาคต

การตรวจวัดมวลกระดูก…

โดยการตรวจด้วยเครื่องมือรังสีชนิดพิเศษ เป็นวิธีการที่ปลอดภัย ไม่เจ็บปวด ใช้ตรวจกระดูกได้ทุกส่วน แต่ที่นิยมและใช้เป็นมาตรฐานเปรียบเทียบตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือ ที่กระดูกสันหลังช่วงเอว และกระดูกสะโพก ซึ่งจะได้ค่าเป็นตัวเลขแสดงความเบี่ยงเบนจากค่ามาตรฐาน

ผู้ที่มีอาการปกติ ไม่มีภาวะเสี่ยง ควรเริ่มตรวจความหนาแน่นกระดูกเมื่ออายุ 60 ปี

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เคยมีประวัติกระดูกหักในครอบครัวจากภาวะกระดูกพรุน หรือรับประทานยาสเตียรอยด์เป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจความหนาแน่นกระดูกเร็วขึ้น เมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป และควรรับวิตามินดีจากธรรมชาติให้มากขึ้นด้วยการรับแดดช่วงเช้า ถ้าหลังจากนั้นแดดแรงอันตรายก่อโรคมะเร็งผิวหนังได้

การรักษาด้วยยาเป็นส่วนมาก ไม่ได้ผ่าตัด การผ่าตัดคือเมื่อเกิดการล้มจนกระดูกหักแล้วเท่านั้น

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 2298

  • Readers Rating
  • Rated 4.9 stars
    4.9 / 5 (7 )
  • Your Rating