บทความสุขภาพ

โรคลมชักในเด็ก เรื่องไม่เล็ก แต่แก้ไขได้

Share:

โรคลมชัก เป็นอีกโรคหนึ่งที่สร้างความทุกข์ใจให้กับผู้เป็นพ่อแม่ ที่ประสบปัญหาลูกเป็นโรคลมชัก กังวลว่าลูกจะต้องทนใช้ชีวิตอยู่กับอาการชักที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ และที่สำคัญกลัวว่าจะเป็นอันตรายถึงชีวิตน้อยๆ ของลูก

โรคลมชัก เป็นหนึ่งในความผิดปกติของระบบประสาทที่พบได้ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันของคลื่นไฟฟ้าสมองที่ออกมาจำนวนมากพร้อมๆ กันทีเดียว จึงทำให้มีอาการแสดงของโรคลมชักเกิดขึ้น

ทำไมจึงเป็นโรคลมชัก

สาเหตุของโรคลมชักในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด แต่โดยทั่วไปพบว่าสาเหตุของโรคลมชักมักมาจากปัจจัยที่สำคัญเหล่านี้คือ กรรมพันธุ์ หรือการที่สมองเคยได้รับภยันตรายต่างๆ มาก่อน เช่น จากภาวะขาดออกซิเจนขณะคลอด อุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนสมอง เนื้องอกในสมอง หลอดเลือดสมองผิดปกติ การติดเชื้อของระบบประสาท และเด็กบางรายที่มีความผิดปกติทางสมองมาตั้งแต่กำเนิด เด็กที่เป็นโรคลมชักจากสาเหตุเหล่านี้ มักจะมีพัฒนาการด้านร่างกายและสมองผิดปกติตามมาด้วย นอกจากนี้สภาพแวดล้อมบางอย่างก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ เช่น แสงไฟ วูบๆ วาบๆ เป็นจังหวะ เป็นต้น

โรคลมชักมีอาการอย่างไร

อาการชักมีหลายชนิด ชนิดที่เกิดบ่อยในเด็กคือ อาการชักทั้งตัว เวลาชักจะเกร็งกระตุกนาน 2-3 นาที โดยตัวเองไม่รู้ตัว จำเหตุการณ์ไม่ได้ คนทั่วไปมักเรียกอาการชนิดนี้ว่า “ลมบ้าหมู”

นอกจากนี้ยังมีอาการชักที่เรียกว่า “ชักเหม่อ” เป็นครู่เดียวไม่เกิน 30 วินาทีก็หาย บางรายมีอาการชักเฉพาะที่แบบรู้ตัว เช่น มีอาการกระตุกที่แขน ขา หรือหน้า ผู้ป่วยจะรู้ตัวและบอกเล่าอาการได้ บางรายอาการชักเป็นแบบทำอะไรซ้ำๆ โดยไม่รู้ตัว ผู้ป่วยบางรายมีอาการชักหลายรูปแบบได้ หลังชักผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดศีรษะ อ่อนเพลีย มึนงง ต้องการพักผ่อน

การวินิจฉัยโรคลมชัก

ข้อมูลการชักของผู้เห็นเหตุการณ์หรือคนใกล้ชิดสำคัญที่สุด เพราะว่าผู้ป่วยที่มีอาการชักบางรายไม่รู้สึกตัว ดั้งนั้นคนที่เห็นเหตุการณ์ต้องสังเกตรายละเอียดว่าผู้ป่วยมีอาการอย่างไรบ้าง มีอาการขณะตื่นหรือหลับ มีอาการนานเท่าไหร่ หลังจากมีอาการผู้ป่วยเป็นอย่างไรมีการกระพริบตา เคี้ยวปาก พูดพึมพำ เกร็ง กระตุกอวัยวะส่วนไหน และคนไข้รู้สึกตัวหรือไม่

ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก การวินิจฉัยโรคลมชักนอกจากประวัติและการตรวจร่างกายแล้ว ยังมีเครื่องมือต่างๆ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) การถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (CT) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) เพื่อช่วยสนับสนุนการวินิจฉัย

การรักษา

ปัจจุบันโรคลมชักส่วนหนึ่งสามารถรักษาได้ ตามมาตรฐานทั่วไปจะรักษาโดยการใช้ยากันชัก ผู้ป่วยประมาณ 70-80% สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา ผู้ป่วยต้องรับประทานยาสม่ำเสมอ แต่ก็มีบางรายที่ไม่ตอบสนองต่อยา ปัจจุบันผู้ป่วยโรคลมชักบางชนิดสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด แต่จะต้องได้รับการตรวจโดยแพทย์อย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อดูว่าผู้ป่วยเหมาะสมที่จะให้การรักษาโดยการผ่าตัดหรือไม่ แล้วหากเข้ารับการผ่าตัดจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาเหล่านี้อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยทุกราย

การรักษาโรคลมชักโดยการผ่าตัด

  • มีผู้ป่วยบางรายที่อาจรักษาได้ผลดีด้วยวิธีการผ่าตัด การผ่าตัดจะถูกนำมาพิจารณา ในกรณีที่ สามารถระบุตำแหน่งของรอยโรคในสมองที่ทำให้เกิดการชักได้
  • การใช้ยากันชักไม่ได้ผล
  • ตำแหน่งที่เป็นสามารถทำการผ่าตัดได้ โดยไม่ทำความเสียหายให้เนื้อสมองส่วนอื่น
  • ผู้ป่วยไม่มีผลกระทบจากการผ่าตัดเอาเนื้อสมองบางส่วนออก
  • นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคลมชักควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักมากขึ้น คือการอดนอน ความเครียด ออกกำลังกายมากผิดปกติ แสงกระพริบเป็นจังหวะ เช่น วิดีโอเกม เป็นต้น

ทำอย่างไรเมื่อพบเจอผู้ป่วยโรคลมชัก

ถ้าเห็นผู้ป่วยกำลังชักอยู่ คนใกล้ชิดหรือผู้เห็นเหตุการณ์จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนตะแคง เพื่อป้องกันการสำลักและเพื่อช่วยให้หายใจสะดวก คลายเสื้อผ้าให้รู้สึกผ่อนคลาย และข้อควรระวังคือ อย่าพยายามงัดปาก ล้วงปาก ผู้ป่วยที่กำลังชัก เพราะจะก่อให้เกิดอันตรายมากกว่า อาจจะไปงัดฟันหักหลุดเข้าหลอดลม หรือมือผู้ช่วยเหลืออาจจะถูกกัดได้ และโดยธรรมชาติของผู้ป่วยโรคลมชักทั่วไปจะชักเพียงช่วงสั้นๆ ประมาณ 2-5 นาทีก็จะหยุด แต่ถ้ารายไหนที่ชักนานมากเกิน 5 นาทีขึ้นไป หรือชักซ้ำอีก กรณีนี้ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล

อาการของโรคลมชักอาจทำให้ผู้พบเห็นเกิดการตกใจได้ ดังนั้น ผู้ช่วยเหลือควรตั้งสติให้ดี การปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชักที่สำคัญคือ ต้องคำนึงถึงการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นณะเกิดการชัก โดยทั่วไปอาการชักมักหยุดได้เองภายใน 2-3 นาที


สอบถามเพิ่มเติมที่ี่ Super Kid’s Center
โทร. 0-2734-0000 ต่อ 3310, 3312 และ 3319

โรคลมชักในเด็ก เรื่องไม่เล็ก แต่แก้ไขได้

  • Readers Rating
  • Rated 4 stars
    4 / 5 (4 )
  • Your Rating