บทความสุขภาพ

การผ่าตัดผ่านกล้อง

Share:

การผ่าตัดผ่านกล้องคืออะไร

การผ่าตัดผ่านกล้อง เป็นการรักษาสมัยใหม่ที่ใช้เทคนิคพิเศษ หลังผ่าตัดจะมีบาดแผลเล็กน้อย โดยปรากฏเพียงรูเล็กสองรูที่อยู่ใต้ลูกสะบ้า การปวดแผลหลังผ่าตัดจะน้อยกว่าการเปิดแผลใหญ่มาก แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะดู พยาธิสภาพในข้อเข่าผ่านกล้องที่สอดเข้าไปในเข่า และแสดงภาพในเข่าให้เห็นที่ จอภาพ Monitor ระหว่างการผ่าตัดแพทย์สามารถสอดเครื่องมือพิเศษที่ออกแบบ เฉพาะสำหรับการทำผ่าตัดผ่านกล้องเข้าไปอีกรูหนึ่ง เพื่อทำการผ่าตัดตามที่แพทย์ต้องการ ได้ เช่น การชำระล้างข้อเข่า การดูดเอาเศษเนื้อเยื่อที่ล่องลอยอยู่ในเข่าออก การเจียรขอบ ที่เผยอของกระดูกอ่อน การตัดพังพืดที่ถูกับกระดูกอ่อนในเข่า การเย็บซ่อมแซมหมอนรองกระดูก หรือเอ็นไขว้ผ่านกล้อง การผ่าตัดกระตุ้นใต้ผิวกระดูกอ่อน เพื่อให้มีการสร้างเนื้อเยื่อ เข้าแทนที่กระดูกอ่อนที่สึกหรือไปแล้ว เป็นต้น

การรักษาข้อเข่าเสื่อม ด้วยวิธีชำระล้างผ่านกล้อง

การส่องกล้องในข้อเข่าสามารถทำได้ โดยการเจาะรูเล็กๆ ใต้ต่อมลูกสะบ้าสองรู เพื่อเป็นทางเข้าของกล้องขนาดเล็ก และเครื่องมือที่ใช้ในการทำผ่าตัด การทำผ่าตัดนี้สามารถล้างและดูดสารน้ำอักเสบในข้อเข่าออก เศษชิ้นส่วนของกระดูกอ่อนที่ลอยปนอยู่ในน้ำข้อเข่า แพทย์สามารถมองเห็นผิวกระดูกอ่อน หมอนรองกระดูก ความสมบูรณ์ของเนื้อเยื่อในข้อเข่า และสามารถประเมินขอบเขตที่สึกหรอในเข่าได้ดีขึ้น มากกว่าข้อมูลที่ได้จากภาพถ่ายทางรังสี นอกจากนี้ หากแพทย์พบกระดูกอ่อนสึกหรอ มีขอบเปิดเผยอ แพทย์สามารถใช้เครื่องมือเข้าไปกรอให้ขอบเรียบมากขึ้น เพื่อชะลอการสึกหรอได้ กรณีที่กระดูกอ่อนสึกหรอจนเห็นชั้นกระดูกจริง แพทย์สามารถใช้เครื่องมือกระตุ้นให้มีการชั้นของพังผืดแทนชั้นของกระดูกอ่อนเดิมได้ ถึงแม้ว่าชั้นของพังผืดจะไม่มีคุณสมบัติในการหล่อลื่น และยืดหยุ่นเท่ากระดูกอ่อนเดิม แต่สามารถช่วยลดการปวดเข่าในขณะใช้งานได้ระดับหนึ่ง ภาวะข้อเข่าเสื่อม โดยส่วนใหญ่จะพบผู้ป่วยในอายุมาก เช่น อายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป

ภาพที่เห็นจากกล้อง ผิวกระดูกอ่อนสึกหรอในข้อเข่าเสื่อม (แผ่นสีขาว) ลึกจนถึงชั้นกระดูกจริง (สีเหลือง) ขอบของกระดูกอ่อนขรุขระ และพร้อมที่จะเปิดเผยอให้หลุดต่อไปได้อีก
ภาพเมื่อลองสอดเครื่องมือใต้กระดูกอ่อน จะเห็นว่า ชั้นของกระดูกอ่อนแยกตัวจากชั้นของกระดูกจริง และกำลังจะหลุดออกมากเป็นแผ่น เมื่อมีการใช้งานต่อไปเรื่อยๆ
ภาพที่แพทย์ผู้ทำผ่าตัดใช้ปลายเหล็กแหลมตอก ชั้นกระดูกจริงบางๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเลือดออกที่ผิวของ ชั้นกระดูกจริง แล้วรอให้เกิดการสร้างพังพืดกระดูกอ่อน (Fibrocartilage) เข้ามาแทนที่กระดูกอ่อนที่สึกหรอไปแล้ว ปกติแล้วร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมหรือสร้าง กระดูกอ่อนใหม่ทดแทนได้

ผลของการรักษาผ่านกล้อง

ปัจจุบันมีรายงานผลการผ่าตัดผ่านกล้องออกเป็น 2 แบบ
แบบแรก สรุปได้ว่าการผ่าตัดผ่านกล้องสามารถใช้ได้ผลดีถึง 70% ในผู้ป่วยที่อายุน้อย และมีการสึกหรอของกระดูกอ่อนไม่มากนัก
แบบที่สอง เป็นการศึกษากลุ่มใหญ่ที่มีการควบคุมตัวแปรอย่างรัดกุมทางสถิติ ได้สรุปว่า การรักษาผ่านกล้องนั้นไม่ได้ช่วยให้อาการหายปวดดีขึ้น และไม่สามารถรับรองผลการรักษาได้

ข้อดีของการรักษาผ่านกล้อง

เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่บาดเจ็บเล็กน้อย แผลมีขนาดเล็ก เพียง 2 รูใต้ลูกสะบ้า ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว นอกจากการ ชำระล้างเข่าในขณะส่องผ่านกล้องแล้ว ศัลยแพทย์สามารถ ซ่อมแซมความผิดปกติในเข่าผ่านกล้องได้ สำหรับการบาดเจ็บในเข่าบางอย่างที่นำไปสู่อาการปวดเข่า ข้อเข่าเสื่อมระยะแรกเริ่ม เช่น หมอนรองกระดูกฉีกขาด เอ็นไขว้หน้าหรือไขว้หลังฉีกขาด ผิวกระดูกอ่อนเป็นขุยหรือหลุดเป็นแผ่น รวมถึงพังพืด ในเข่า ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีการปวดเข่าเลียนแบบการปวดข้อเข่าเสื่อม สามารถรักษาให้ดีขึ้นจากการทำผ่าตัดผ่านกล้อง และช่วยชะลอการ เกิดข้อเข่าเสื่อมในอนาคตได้ การผ่าตัดผ่านกล้อง ช่วยให้แพทย์ประเมินความรุนแรงของข้อเข่าเสื่อมได้จากการเห็นภาพผ่านกล้องโดยตรง ซึ่งชัดเจนกว่าการประเมินจากภาพถ่ายทางรังสี นอกจากนี้ อาจจะช่วยการปวดจากข้อเข่าเสื่อมในบางรายน้อยลง และเลื่อนเวลาที่จะต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าได้

รูปซ้ายแสดงกระดูกอ่อนสึกหรอมากในข้อเข่าเสื่อม (ขุยสีขาว) จนเห็นผิวกระดูก(สีเหลือง) ได้รับการผ่าตัดผ่านกล้องสร้างข้อ และใช้เครื่อง Radiofrequency กระตุ้นให้เกิดความร้อน เพื่อให้ขอบเผยอหดตัวแนบ ติดกับกระดูกจริงตามรูปขวา ช่วยลดความเร็วในการเกิดข้อเสื่อมได้

เมื่อไรที่ควรจะพิจารณารักษาผ่านกล้อง

การผ่าตัดชำระล้างเข่าผ่านกล้อง ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดสำหรับการรักษาข้อเข่าเสื่อม โดยเฉพาะในข้อเข่าที่เป็นมากๆจึงสมควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นกรณีในแต่ละราย

อนาคตของการผ่าตัดผ่านกล้องสำหรับโรคกระดูกอ่อนในข้อเข่า

การศึกษาเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับการปลูกถ่ายเซลล์กระดูกอ่อนผ่านกล้อง วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการใหม่ที่จำเป็นต้องมีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางพาณิชย์มาร่วมด้วย กล่าวคือ แพทย์จะนำเซลล์กระดูกอ่อนของผู้ป่วยส่งไปที่ศูนย์เพาะเนื้อเยื่อชีวภาพ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มี หลังจากนั้นนำกลับมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย การรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวแพทย์จำเป็นต้องเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสม ผู้ป่วยไม่ควรมีอายุมาก เข่าไม่ควรมีลักษณะผิดรูป จึงจะหวังผลได้ประมาณ 80% อย่างไรก็ตาม เป็นการผ่าตัดที่มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และยังต้องการความพร้อมอีกหลายด้าน

สรุป

การผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อใช้การรักษาข้อเข่าเสื่อมนั้น มีข้อจำกัดในการรักษาอยู่พอควร จำเป็นต้องเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสม ซึ่งในกรณีที่เลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมแล้ว แพทย์สามารถคาดหวังผลการรักษาได้สูงถึง 70% การรักษาวิธีนี้ไม่สามารถทำให้อาการข้อเข่าเสื่อมหายขาดได้ แต่ช่วยชะลอความรุนแรงของอาการข้อเข่าเสื่อมได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพและความรุนแรงของข้อเข่าเสื่อมด้วย จึงเป็นการผ่าตัดที่ช่วยยืดเวลาในการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าให้กับผู้ป่วยที่ยังอายุน้อยได้ดีในระดับหนึ่ง


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อรับคำแนะนำจากแพทย์
ได้ที่ศูนย์ฟื้นฟูข้อเสื่อม ชั้น 3 อาคาร 1 รพ. เวชธานี โทร. (02) 734 – 0000 ต่อ 2222 – 2224

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (3 )
  • Your Rating