บทความสุขภาพ

การดูแลสุขภาพเท้า

Share:

“เท้า” เป็นอวัยวะที่ถูกใช้งานอย่างหนัก แต่มักถูกมองข้าม และไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่สมกับการใช้งานของมนุษย์ ปัญหาของเท้าที่พบบ่อยมีทั้งปัญหาของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อของเท้าโดยตรง ปัญหาทางระบบประสาท และระบบหลอดเลือดซึ่งมักเป็นผลจากโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้คล่องตัวนัก และหากเป็นมากอาจถึงขั้นสูญเสียอวัยวะส่วนขาและเท้าได้

ปัญหาของเท้าที่พบบ่อย

  • เดินไม่สบาย ปวดฝ่าเท้า ปวดส้นเท้า
  • รองเท้ากัด มีแผลที่เท้า
  • ปวด บวมแดงที่เท้าหลังเล่นกีฬา
  • เล็บขบ
  • หนังด้านแข็ง ตาปลา
  • เท้าผิดรูป เช่น เท้าโก่ง เท้าแบน
  • แผลเบาหวาน
  • รู้สึกไม่สุขสบายกับรองเท้าคู่ประจำ

การตรวจวัดลักษณะอุ้งเท้าและการกระจายน้ำหนัก

สามารถตรวจวัดได้ด้วยเครื่อง iStep ซึ่งเป็นเครื่องตรวจวัดการกระจายน้ำหนักของเท้าอย่างละเอียด มีเซ็นเซอร์วัดแรงกดทุก 1 ตารางเซนติเมตร เชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยโดยใช้เวลาเพียง 20 วินาที

iStep

ผลการตรวจจะแสดงให้เห็น การกระจายน้ำหนักของเท้าในแต่ละจุด การกระจายน้ำหนักไม่สมดุล เป็นสาเหตุของปัญหาเท้าและการเดิน เราสามารถแก้ไขการกระจายน้ำหนักที่ไม่สมดุลนี้ ได้ด้วย การเลือกรองเท้า และแผ่นรองรองเท้าที่เหมาะสม

บัญญัติ 10 ประการในการดูแลเท้า

1. ล้างเท้าด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาด แล้วใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้งทุกซอกทุกมุม
2. สำรวจเท้าทุกวันว่ามีบาดแผลหรือไม่ โดยการส่องกระจก
3. ทาครีมหรือโลชั่นให้ทั่วทั้งหลังเท้าและฝ่าเท้า เพื่อความชุ่มชื้นโดยหลีกเลี่ยงบริเวณซอกนิ้วเท้า
4. สวมถุงเท้าที่เป็นผ้าฝ้ายระบายความร้อนได้ดี
5. เลือกใส่รองเท้าหุ้มส้นให้พอดีกับเท้า ไม่คับไม่หลวมเกินไป
6. หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำอุ่น หรือน้ำร้อนโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เท้าพุพองได้
7. การตัดเล็บ ควรตัดในแนวตรงและตะไบบริเวณมุมเล็บ เพื่อป้องกันการเกิดเล็บขบหรือให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตัดเล็บให้
8. หมั่นนวดบริเวณเท้าอยู่เสมอเพื่อให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
9. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เพื่อป้องกันเส้นเลือดตีบ
10. หากพบว่ามีแผลที่เท้าควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาทันที ไม่ควรนิ่งนอนใจ

การเลือกรองเท้า

เลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับกิจกรรม
เลือกรองเท้าที่พื้นด้านในรองเท้านุ่ม ลดแรงกดในฝ่าเท้า รวมทั้งแรงกระแทกต่าง ๆ
เลือกรองเท้าที่ไม่คับหรือหลวมจนเกินไป
เลือกรองเท้าที่สามารถปรับให้กระชับกับเท้าได้ เช่น มีเชือกผูกหรือสายกระชับ
เลือกซื้อรองเท้าช่วงบ่าย เพราะเป็นช่วงเวลาที่เท้าขยายตัวมากที่สุด
ขณะเลือกซื้อควรยืน แล้วใช้ดินสอวาดขอบเขตของเท้าตนเองลงบนกระดาษ และนำไปเทียบกับรองเท้าที่จะซื้อ เพิ่มเติมจากการทดลองสวมเพียงอย่างเดียว
ขนาดความยาวของรองเท้าขณะยืน ควรจะยาวกว่านิ้วเท้าที่ยาวที่สุดประมาณ ครึ่งนิ้ว
ส่วนที่กว้างที่สุดของรองเท้าควรอยู่บริเวณปุ่มกระดูกด้านข้างของนิ้วหัวแม่เท้า ( โคนของนิ้วเท้า )
ส่วนหัวของรองเท้าควรมีลักษณะป้านสูงพอประมาณเพื่อป้องกันไม่ให้นิ้วเท้าและหลังเท้าเสียดสีกับรองเท้า
รองเท้าหนังมีการระบายอากาศดีกว่ารองเท้าพลาสติก
รองเท้าที่ดีควรมีแผ่นรองรับแรงกระแทกภายในที่เหมาะสมกับอุ้งเท้า และการกระจายน้ำหนักของเท้าแต่ละคน

การดูแลเอาใจใส่กับอวัยวะทุกส่วนเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเท้าซึ่งเป็นอวัยวะที่ถูกใช้งานอย่างหนัก เพราะหากเกิดอันตรายกับเท้าแล้ว นั่นหมายถึงความไม่สุขสบายที่จะเกิดขึ้น และอาจจะเกิดความพิการขึ้นได้

“ดูแลเท้าตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่จะไม่มีเท้าให้ดูแล”

สอบถามข้อมูลเพิ่มที่
คลินิกสุขภาพเท้า ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์และต่อมไร้ท่อ โทรศัพท์ 0-2734-0000 ต่อ 1071, 1072

  • Readers Rating
  • Rated 4.8 stars
    4.8 / 5 (2 )
  • Your Rating