บทความสุขภาพ

เมื่อลูกน้อยเป็นโรคเท้าปุก…ต้องรีบปรึกษาแพทย์ก่อนสายเกินแก้

Share:

“โรคเท้าปุก” เป็นการผิดรูปของเท้าในเด็กแรกเกิดที่พบบ่อยที่สุดชนิดหนึ่ง โดยมีโอกาสพบได้ประมาณ 1 ใน 1,000 ของเด็กแรกคลอด อาจแตกต่างกันไปเล็กน้อยตามเชื้อชาติ โดยรูปร่างเท้าจะมีลักษณะผิดรูปหลายอย่างร่วมกัน แต่อาจสังเกตได้โดยมีลักษณะฝ่าเท้าบิดเข้าด้านใน ปลายเท้าโค้งเข้า และส้นเท้าจิกลง

โรคเท้าปุกนี้เป็นที่รู้จักและสนใจกันมาเป็นเวลานานแล้ว โดยอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ โรคเท้าปุกแท้ และโรคเท้าปุกเทียม ซึ่งอาจแยกคร่าวๆ ได้โดยดูจากความรุนแรงของความผิดปกติที่พบ

โรคเท้าปุกเทียม

จะพบว่า ความผิดรูปของเท้ามีลักษณะนิ่ม เพียงการดัดเบาๆ ก็จะเห็นเท้าคืนรูปได้ เท้าปุกชนิดนี้เท้าไม่ได้มีความผิดปกติที่เกิดกับโครงสร้างของเท้าที่แท้จริง สาเหตุเชื่อว่าอาจเกิดจากการที่เด็กขดตัวอยู่ในท้องแม่เป็นเวลานาน หรืออาจหาสาเหตุไม่พบเลย เท้าปุกแบบนี้สามารถหายเองได้ หรืออาจใช้เพียงการเขี่ยเท้าเพื่อกระตุ้นให้เด็กขยับเท้าก็เพียงพอ

โรคเท้าปุกแท้

ความผิดปกติของรูปร่างเท้าจะรุนแรงกว่า เห็นได้ชัดเจน และแข็งไม่สามารถดัดให้เท้าคืนกลับมาอยู่ในรูปร่างปกติได้ เท้าปุกแบบนี้ไม่สามารถหายเองได้ จำเป็นต้องได้รับการรักษา เพราะหากทิ้งไว้จะก่อให้เกิดความผิดปกติ หรือความพิการถาวรเกิดขึ้นได้ การแยกเท้าปุกทั้ง 2 แบบออกจากกันจึงมีความสำคัญ หากไม่แน่ใจควรปรึกษาศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อในเด็ก

วิธีการรักษาโรคเท้าปุก

การรักษาโรคเท้าปุกมีการพัฒนามายาวนาน มีทั้งการรักษาแบบผ่าตัด และไม่ผ่าตัด ในปัจจุบันวิธีการรักษาที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือคือ การรักษาโดยวิธีแบบ Ponseti หลักของการรักษาแบบนี้คือ การดัดแก้ไขความผิดรูปของเท้าทีละน้อยร่วมกับการใส่เฝือก โดยต้องเปลี่ยนเฝือกทุก 1-2 สัปดาห์ และทำการดัดเท้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจจะประมาณ 6-8 ครั้ง ขึ้นกับความรุนแรง จนได้รูปเท้ากลับมาใกล้เคียงปกติ และมักจะต้องร่วมกับการเจาะยืดเอ็นร้อยหวายในการใส่เฝือกครั้งสุดท้าย หลังจากเท้าได้รูปที่ดีแล้วยังคงต้องใส่อุปกรณ์ช่วยดัดเท้าในเวลาที่เด็กนอนหลับต่ออีก 3-4 ปี เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ การรักษาโดยวิธีนี้ควรเริ่มรักษาให้เร็วที่สุดจะได้ผลดีกว่า

แม้อาจฟังดูแล้วยุ่งยาก และใช้เวลา แต่ก็เป็นวิธีที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี และมีผลเสียน้อยที่สุด โดยเฉพาะถ้าเทียบกับการผ่าตัดที่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเช่นแผลเป็นที่แข็ง และเจ็บ หรือความเสื่อมของข้อต่อในเท้าก่อนเวลา การผ่าตัดจึงจะทำในรายที่จำเป็นเท่านั้น

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 2298

  • Readers Rating
  • Rated 5 stars
    5 / 5 (1 )
  • Your Rating